1. นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีซูกะ ตามที่นายกรัฐมนตรีซูกะได้แถลงต่อรัฐสภาญี่ปุ่น ในวันรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 16 กันยายน 2563
.
1.1 ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ญี่ปุ่นจะรักษาความสมดุลระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการทุ่มงบเงินกู้/เงินอุดหนุนบริษัทเอกชน และป้องกันไม่ให้ประชาชนตกงาน ทั้งยังออกนโยบาย Go To Campaign (Go To Eat/ Go To Travel) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือบางส่วนแก่ผู้ประกอบการ
.
1.2 สานต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ (Abenomics) โดยยังคงไว้ซึ่ง 3 แกนหลัก ได้แก่ (1) การเงิน (2) การคลัง และ (3) การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยให้เหตุผลว่าในช่วงเวลาที่ ประชาชนเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลจึงต้องคงโยบายเศรษฐกิจหลักของประเทศไว้
.
1.3 สร้างสังคมดิจิทัล โดยประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการปฏิรูปงานของภาครัฐ เช่น (1) ให้ประชาชนมี My Number (หมายเลขประจําตัว 12 หลัก) เพื่อใช้ระบุตัวบุคคลในการเก็บภาษี ประกันสังคม และระบุตัวตน ในช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นกุญแจสําคัญให้ญี่ปุ่นก้าวข้ามผ่านสังคม analog สู่สังคมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ และ (2) จัดตั้งทบวงดิจิทัล (Digital Agency) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560
.
1.4 สร้างสังคมสีเขียว โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Emission) ให้ได้ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050)
.
2. สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2563
.
2.1 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และผลรายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ Real GDP ของญี่ปุ่นในปี 2563 ติดลบร้อยละ 5.3 และจากข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น พบว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของญี่ปุ่นได้ติดลบมาต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 (ตุลาคม-ธันวาคม) จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 (เมษายน-มิถุนายน) สืบเนื่องจากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเนื่องจากญี่ปุ่นมีฐานการผลิตในจีนมาก และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศอัตราการเติบโต Real GDP ของญี่ปุ่น งวดเดือน กรกฎาคม-กันยายน 2563 สูงขึ้น ร้อยละ 5.3 หรือร้อยละ 22.9 (แบบ Annual Rate) จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส แต่นับว่ายังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาในระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ได้ และยังห่างไกลอยู่ค่อนข้างมาก
.
เมื่อพิจารณารายภาคส่วนของไตรมาสเดือน กรกฎาคม-กันยายน 2563 พบว่า การบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งมีอัตราส่วนเกินครึ่งของ GDP ได้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยมาตรการ Go To Campaign และการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.0 จาก ไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ และจีนตามสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอย่างไรก็ดี การลงทุนของภาคเอกชนยังคงหดตัวลงร้อยละ 3.4 และการลงทุนในครัวเรือนยังหดตัวลงร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
.
3. แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2564
.
3.1 IMF และ World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 2.5 ตามลําดับ ในขณะที่สถาบันการเงินของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3 โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ดังนั้น จึงจําเป็นต้องใช้เวลากว่าที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับไปเหมือนดังช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 (Pre pandemic economic level) ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงความล่าช้าในการนํารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสําหรับช่วง Post COVID-19 มาใช้ด้วย เช่น การสร้างสังคมดิจิทัลและสังคมสีเขียว
.
3.2 เป็นที่จับตามองว่าการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณประจําปี 2564 วงเงิน 106.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 32 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Economic Measures against COVID-19 Shock) จะช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เพียงใด ทั้งนี้ ประเด็นการจัดหรือการยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกก็จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2564
.
4. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
.
4.1 การอํานวยความสะดวกให้คนญี่ปุ่นเดินทางไปไทย ในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้ทั้งสองประเทศมีข้อจํากัดในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าเมือง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทย ได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติบางประเภทสามารถเดินทางเข้าไทยได้
.
4.2 โอกาสของแรงงานไทย หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ปรับกฎหมายด้านแรงงานในปี 2562 ทําให้ แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ (Specified Skilled Worker) จํานวน 14 สาขา สามารถเข้ามาทํางานในญี่ปุ่นได้ โดย ญี่ปุ่นมีเป้าหมายจะนําเข้าแรงงานประเภทนี้ประมาณ 345,150 คน ในระยะเวลา 5 ปี (เริ่มเดือนเมษายน 2562) แต่ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้แรงงานต่างชาติมีอุปสรรคในการมาทํางานที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้แรงงานของไทยสามารถเดินทางเข้ามาญี่ปุ่นได้ผ่านมาตรการ Residence Track ไทยจึงเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งแรงงาน (ผู้ฝึกงานและแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ) ไปทํางานที่ญี่ปุ่นได้ ทั้งนี้ สํานักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นประมาณการว่า ในอนาคตหากการแพร่ระบาดฯ คลี่คลาย อุปสงค์แรงงานต่างชาติจะยังคงอยู่ โดยเฉพาะงานด้านเกษตรกรรม บริบาล ทําความสะอาดอาคาร งานก่อสร้าง และงานด้านการผลิตอาหาร
.
4.3 โอกาสของสินค้าไทย สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียวแจ้งว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยมาญี่ปุ่นในปี 2563 ติดลบ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ (1) สินค้าอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารสัตว์เลี้ยง (2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทํางานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว