เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด (Mohammed bin Salman Al-Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ทรงประกาศถ้อยแถลงเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (2564 – 2568) สําหรับการให้กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย (Public Investment Fund – PIF) มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของ “Vision 2030” ที่เจ้าชายฯ ทรงเป็นผู้ประกาศเมื่อปี 2559 ในการสร้างความหลากหลายของแหล่งรายได้ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย นอกเหนือจากน้ำมันและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
.
ในฐานะประธานกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด ตรัสว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบียจะอัดฉีดเงินลงทุนในเศรษฐกิจท้องถิ่นของซาอุดีอาระเบีย กว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือประมาณร้อยละ 5 ของ GDP ซาอุดีอาระเบีย) และเพิ่มสินทรัพย์สุทธิของกองทุน PIF ให้มีมูลค่า 1.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมทั้งจะสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคเอกชนในสาขาอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตน้ำมันที่กองทุน PIF มีหุ้นส่วน จํานวน 320 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างงานให้แก่คนซาอุดีอาระเบีย จํานวน 1.8 ล้านตําแหน่ง ภายในปี 2568
.
แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สําคัญ 13 สาขา ได้แก่ พลังงาน ทรัพยากรน้ํา การคมนาคม อาหาร การผลิต การสื่อสาร วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิง เทคโนโลยี การท่องเที่ยว กีฬา การก่อสร้าง สวัสดิการและการศึกษา และสาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเอกชนซาอุดีอาระเบียสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น (Localization) พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และขยายสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่บุกเบิกอารยธรรมของมนุษย์สมัยใหม่ (pioneer for the new human civilization) ด้วยการมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการพัฒนาอุตสาหกรรมและตําแหน่งงานในสาขาใหม่
.
กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย (PIF) ก่อตั้งเมื่อปี 2514 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนําเงินไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลกําไรในตลาดหลักทรัพย์หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในนามของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์สุทธิของกองทุน PIF มีมูลค่าประมาณ 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเคยตั้งเป้าในการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน PIF เป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 เพื่อที่จะทําให้กองทุน PIF เป็นกองทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลกแทนที่กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของประเทศนอร์เวย์และจีน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีข้างต้นถือเป็นกลยุทธ์ (roadmap) ที่จะทําให้ซาอุดีอาระเบียสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
.
แหล่งที่มาของเงินทุนในกองทุน PIF ประกอบด้วย (1) เงินอัดฉีดจากธนาคารกลางซาอุดีอาระเบีย (2) เงินปันผลจากการถือครองหุ้น (3) การจําหน่ายสินทรัพย์ และ (4) การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และการออกพันธบัตร โดยที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ ได้มีการลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในซาอุดีๆ หลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ Neom (เมืองใหม่ติดกับทะเลแดงและอ่าวอากาบา เชื่อมต่อกับอียิปต์และจอร์แดน) โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลแดง และโครงการเมืองแห่งความบันเทิง Qiddiya ทั้งนี้ กองทุน PIF เป็นนิติบุคคลรายเดียวที่ถือครองหุ้นของโครงการพัฒนาเมือง Neom การริเริ่มพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งการจัดสรรเงินลงทุนน่าจะอยู่ภายใต้การกํากับดูแลอย่างเบ็ดเสร็จของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูดได้ทรงเปิดตัว โครงการ “The Line” ที่เมือง Neom โดยประสงค์ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการดังกล่าวประมาณ 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะช่วยสร้างงานให้คนซาอุดีอาระเบีย จํานวน 380,000 ตําแหน่ง
.
สํานักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 อัตราการว่างงานของซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ร้อยละ 14.9 ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.4 และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซาอุดีอาระเบียมีผู้มีงานทําทั้งหมดประมาณ 13.46 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 75.8 (หรือประมาณ 10.20 ล้านคน) เป็นชาวต่างชาติ ในขณะที่มีคนซาอุดีอาระเบียมีงานทําเพียงแค่ร้อยละ 24.1 (หรือประมาณ 3.25 ล้านคน ในขณะที่ประชากรที่เป็นชาวซาอุดีอาระเบียมีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในปัจจุบันประมาณ 34 ล้านคน)
.
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียพยายามลดการจ้างแรงงานต่างชาติ และเพิ่มการจ้างงานคนซาอุดีอาระเบียภายใต้มาตรการ “Saudization” เช่น เพิ่มค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บแรงงานต่างชาติ การกําหนดประเภทของงานที่ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติทํา ฯลฯ แต่ด้วยอัตราการว่างงานสูง จึงกลายเป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาโครงการต่าง ๆ ข้างต้นเพื่อสร้างงานเพิ่มเติมให้แก่คนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยทํางาน (ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ 31.8 ปี) ถึงแม้ว่าอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สตรีชาวซาอุดีอาระเบียได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามบริบททางสังคมของซาอุดีอาระเบียที่ผ่อนคลายและอนุญาตให้สตรีซาอุดีอาระเบียสามารถประกอบอาชีพได้มากขึ้น
.
ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะมีส่วนช่วยทําให้เกิดการจ้างแรงงานชาวซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานต่างชาติที่ถูกปลดเป็นจํานวนมาก ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 มีแรงงานต่างชาติกว่า 257,000 ราย ที่สิ้นสุดการทํางานในซาอุดีอาระเบียและต้องเดินทางกลับประเทศ แต่อาจมีความท้าทายเรื่องการพัฒนาทักษะและคุณภาพของแรงงานซาอุดีอาระเบียจํานวนไม่น้อยที่ไม่คุ้นเคยกับการทํางานมาก่อนด้วยเช่นกัน
.
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจ การลงทุน หรือการส่งออกแรงงานไทยไปยังซาอุดีอาระเบียควรศึกษากฎระเบียบท้องถิ่น และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรู้เท่าทัน และปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่อาจกระทบกับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ นอกจากนี้ การดำเนินกิจจกรรรมทางเศรษฐกิจในยุคที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ผู้ประกอบการควรมีแผนสำรองเพื่อรับมือและกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด