ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศที่ส่งออกอาวุธทั้งหลายมานาน แต่ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียได้ปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเริ่มสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศของตนเอง
.
บริษัทอุตสาหกรรมทหารของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabian Military Industries – SAMI) ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 โดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (Private Investment Fund – PIF) ภายใต้รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายของซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 50 จะเป็นการซื้อจากภายในประเทศ (จากเดิมประมาณร้อยละ 3) โดย SAMI จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่ติด 25 อันดับแรก (TOP 25) ของบริษัทผลิตอาวุธชั้นนําของโลก จะมีผลผลิตมูลค่า 14 พันล้านริยาล (ประมาณ 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และจะสร้างงานสําหรับแรงงานทักษะสูงมากกว่า 40,000 ตําแหน่ง
.
การสร้างอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในแผนงานของการดําเนินการ ตามวิสัยทัศน์ “Vision 2030” ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ภายใต้การบริหารของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (Salman bin Abdulaziz Al Saud) ซึ่งทรงขึ้นครองราชสมบัติและดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 โดยมงกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud – MbS) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ทรงเป็นผู้ประกาศวิสัยทัศน์ฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 เป้าหมาย คือ ลดการพึ่งพาน้ำมันสร้างความหลากหลายของเศรษฐกิจ และพัฒนาระบบราชการ ซึ่งปัจจัยสําคัญของการประกาศวิสัยทัศน์ฯ คือ ความจําเป็นของซาอุดีอาระเบียที่ต้องปรับตัวอันเนื่องมาจากสภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำเมื่อปี 2557
.
3 เสาหลัก (3 pillars) ของวิสัยทัศน์ Vision 2030 คือ (1) สถานะของการเป็นหัวใจของโลกอาหรับ และโลกมุสลิมของซาอุดีฯ (heart of the Arab and Islamic Worlds) (2) ความมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศ ที่ทรงอิทธิพลของโลกด้านการลงทุน (global investment powerhouse) และ (3) การมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลาง ที่เชื่อมโยง 3 ทวีป เอเซีย-ยุโรป-แอฟริกา (a hub connecting the 3 continents)
.
อุตสาหกรรมที่ SAMI มุ่งเน้น มี 5 ส่วน คือ การบิน (aeronautics) ระบบทางบก (land Systems) ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการป้องกัน (defense electronics) อาวุธและขีปนาวุธ (weapons and missiles) และเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ (emerging technologies) โดย SAMI เพิ่งซื้อหุ้นร้อยละ 50 ของบริษัท Advanced Electronics (AEC) จาก BAE Systems ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมอาวุธของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 และยังมีหุ้นในบริษัท Aircraft Accessories and Components ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการบํารุงรักษาและยกเครื่องอากาศยาน (maintenance and overhaul) รายใหญ่ในตะวันออกกลาง
.
นาย Walid Abdulmaid Abukhaled ผู้บริหารในตําแหน่ง CEO ของ SAMI ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ Arab News ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ว่า SAMI จะยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ BAE Systems ที่ทําธุรกิจกับซาอุดีฯ มากว่า 50 ปี ต่อไป และจะร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาใต้ และเกาหลีใต้ โดยเรื่องหนึ่งที่ SAMI กําลังมุ่งวิจัยและพัฒนา คือ การสร้าง อากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicles – UAVs)
.
นาย Abukhaled ระบุด้วยว่าความทะเยอทะยานของ SAMI ไม่อยู่ไกลจากความเป็นจริง เพราะซาอุดีๆ มีบุคลากร (โดยเฉพาะวิศวกร) ที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศ และที่ได้รับการศึกษาอบรม จากประเทศต่างๆ จํานวนมาก ที่พร้อมจะช่วยพัฒนาประเทศ ปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทําให้ซาอุดีฯ พยายามเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศของตนเอง อย่างเต็มที่ต่อไป คือการประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงของนาย Joe Biden ที่เข้ารับหน้าที่ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม 2564 ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนําของเขาจะพิจารณาลดการขายอาวุธ ให้ซาอุดีฯ ซึ่งภายใต้สภาวะการณ์ในปัจจุบันที่ยังมีความตึงเครียดในภูมิภาคอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีฯ กับอิหร่าน ความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ของซาอุดีฯ จึงจะยังมีสูงต่อไปแน่นอน
.
จากบทความข้างต้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเกี่ยวกับการส่งออกชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ในการผลิตชิ้นส่วนของอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังซาอุดีฯ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนต่าง ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด