เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 นาย Yan Jun รักษาการผู้จัดการทั่วไป บริษัท Shanghai Pharma ได้มาพบหารือรองกงสุลใหญ่/รักษาการกงสุลใหญ่ และนางดลพร อัชวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงปักกิ่ง โดยสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
.
Shanghai Pharma เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ด้านเวชภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จีน (รองจาก Sinopharm) อยู่ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง โดยในปี 2562 มีรายได้ 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุม 12 มณฑลของจีน มีโรงงานยา 52 แห่งทั่วจีน มีช่องทางกระจายสินค้าทั่วประเทศ และมีศูนย์ R&D ในหลายประเทศ โดยล่าสุดได้สร้างโรงงานผลิตยาด้วยเทคโนโลยี 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเขตนวัตกรรมจางเจียง นอกจากนี้ กําลังพัฒนาและตั้งโรงงานผลิตวัคซีน COVID-19 โดยมีการร่วมทุนกับรัสเซียด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ ซูดาน เอธิโอเปีย และสหรัฐฯ (จําหน่ายยารักษาโรคหัวใจได้รับการรับรองจาก FDA) และมีบทบาทสําคัญในการช่วยให้ภูมิภาคแอฟริกาเข้าถึงยา รักษาโรคมาเลเรียได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมาขึ้นตามนโยบาย BRI และใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP
.
บริษัทตั้งใจจะไปลงทุนในไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยตั้งเป้าหมายจัดตั้งบริษัทลูกภายในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อดูแลทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เป็นอันดับแรก และศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งขึ้นก่อนที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานด้านยา/นวัตกรรมทางการแพทย์ต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งออกวัตถุดิบการผลิตยาให้กับองค์การเภสัชกรรมด้วยแล้ว ทั้งนี้ ประสงค์จะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเทศไทยเพื่อเตรียมการที่เกี่ยวข้องในช่วงต้นปี 2564
.
ด้านสถานกงสุลใหญ่พร้อมที่จะส่งเสริมการลงทุนสาขาเวชภัณฑ์/นวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC และย้ำว่าไทยเป็นตัวเลือกการลงทุนที่เหมาะสมเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีความก้าวหน้าในสาขาการแพทย์ดังจะเห็นได้จากการเป็น Medical hub ของประเทศไทย และความสําเร็จในการควบคุมการระบาดที่ผ่านมา
.
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน กรุงปักกิ่ง ได้อธิบายขั้นตอนการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในเบื้องต้น รวมถึงกรณีที่จะส่งผลิตภัณฑ์ยาเข้าไทย หรือก่อตั้งโรงงานผลิตยาในไทย ว่าจะต้องขออนุญาตองค์การอาหารและยา (อย.) และแจ้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีลงทุนสาขาผลิต เครื่องมือแพทย์ขั้นสูง/การผลิตยา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนพร้อมช่วยออกหนังสือเชิญ/ประสานการนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
นอกจากนี้ ผู้แทนบริษัท Shanghai Pharma ได้เข้าร่วมการประชุม Bangkok-Shanghai Economic Conference ครั้งที่ 2 ที่สถานกงสุลใหญ่ จัดขึ้นในปี 2562 ซึ่งได้เชิญรองเลขาธิการ EEC มาให้ข้อมูลการลงทุนใน EEC ทําให้บริษัทฯ เห็นโอกาสในไทยและประสงค์จะหารือกับสถานกงสุลใหญ่เกี่ยวกับแผนการเยือนไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ก็เลื่อนออกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
.
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ย้ำในการหารือว่ามีศักยภาพและเงินทุนเพียงพอที่จะจัดตั้งบริษัทลูกแบบถือหุ้น 100% (wholly owned subsidiary) แต่ก็พร้อมหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพเพื่อความร่วมมือกับท้องถิ่น แต่นโยบายของบริษัทจะร่วมทุนแต่กับภาครัฐต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงย้ำว่าตนเป็น “บริษัทเซี่ยงไฮ้” ไม่ใช่ บริษัทจีน และมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมมากกว่าบริษัทสัญชาติจีนอื่นๆ
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้