ในภาพรวมของความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรนั้น ได้คลี่คลายประเด็นข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายใน 3 ประเด็น ได้แก่ การรักษาการแข่งขันที่เป็นธรรม กลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไม่ผ่าน European Court of Justice และสิทธิการประมงในน่านน้ำสหราชอาณาจักร รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การบิน ระหว่างประเทศ การขนส่ง และความมั่นคง โดยความตกลงนี้ถือเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาสำหรับทั้งสองฝ่าย และเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป หลังสิ้นสุด transition period ในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้แก้ไขในทุกปัญหาระหว่างกัน แต่ถือเป็นความสำเร็จในการรักษาความมั่นคงซึ่งกันและกัน โดยฝ่าย สหภาพยุโรป มองว่า สามารถปกป้องความมั่นคง ของ Single Market และรักษาประโยชน์ในการทำประมงในน่านน้ำสหราชอาณาจักรได้อีกอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ฝ่ายสหราชอาณาจักร มองว่าประสบความสำเร็จในการได้รับอิสรภาพทางกฎระเบียบจากสหภาพยุโรป และได้สิทธิการเข้าตลาดสหภาพยุโรปในฐานะประเทศที่สามแบบไม่มีภาษีและโควตา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจสหราชอาณาจักรในทุกระดับ
.
ซึ่งนายกรัฐมนตรี Boris Johnson เห็นว่าเป็นความตกลงที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่ายแล้ว และได้พยายามโน้มน้าว สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรให้เห็นชอบกับร่างความตกลงดังกล่าวโดยมีหนังสือเวียนถึงสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร โดยย้ำประเด็นสำคัญ อาทิ ความตกลงดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ กฎหมายสหภาพยุโรป การรักษามาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิทธิในการปรับเปลี่ยนมาตรฐานของสหราชอาณาจักรต่อไป ความสามารถในการมีระบบการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของตนเองโดยไม่อยู่ภายใต้ EU State Aid Regime การเข้าถึงตลาดการค้าและการบริการในสหภาพยุโรปอย่างเสรี รวมถึงการสร้างความแน่นอนในภาคการขนส่งและความร่วมมือด้านความมั่นคงด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี Johnson ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในบ่ายวันนี้เกี่ยวกับข่าวดังกล่าวโดยได้ย้ำสาระสำคัญตามหนังสือเวียนข้างต้น และกล่าวว่าเป็นข่าวดีของสหราชอาณาจักรสำหรับคริสต์มาสในปีที่ยากลำบากนี้
.
สำหรับบุคคลในคณะรัฐมนตรีและพรรครัฐบาลสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน โดยมองว่า ความตกลงดังกล่าวเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป เมื่อปี 2559 และในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งนายกรัฐมนตรี Johnson มีบทบาทนำในกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี Theresa May และนาย David Cameron ได้แสดงความยินดีกับการบรรลุความตกลง และเห็นว่าผลสำเร็จดังกล่าวย่อมดีกว่าการไม่มีความตกลง นอกจากนี้ นาย Nigel Farage หัวหน้าพรรค Brexit Party ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการมีความตกลงมาตั้งแต่ต้น ได้ตอบรับผลสำเร็จดังกล่าวโดยการโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “The war is over” ในขณะที่ ส.ส. กลุ่ม European Research Group (ERG – กลุ่ม Pro Brexit หรือ hard Brexiteer) ภายในพรรคอนุรักษ์นิยม จำนวนประมาณ 50 คน ยังรอตรวจสอบเนื้อความของ ความตกลง เพื่อกำหนดท่าทีต่อไป ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคแรงงานยังไม่มีท่าทีอะไร แต่ไม่ได้มีความเห็นคัดค้าน โดยจะรอตรวจสอบเนื้อความของความตกลงในรายละเอียดก่อน ในขณะที่พรรค Scottish National Party (SNP) โดยนาง Nicola Stugeon ผู้นำรัฐบาลแคว้นสกอตแลนด์ประกาศว่า Brexit ไม่ใช่ความประสงค์ของสกอตแลนด์แต่แรก ดังนั้นความตกลงไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ไม่สามารถชดเชยสิ่งที่สูญเสียจากการออกจากสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้ สกอตแลนด์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า โดยพรรค SNP ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงมากที่สุดในสกอตแลนด์ปัจจุบัน ได้ชูประเด็นที่จะขอทำประชามติเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรอีกครั้งในการหาเสียงด้วย จึงพยายามขยายผลประเด็น Brexit และน่าจะเป็นประเด็นการเมืองภายในสหราชอาณาจักรต่อไป
.
สำหรับภาคธุรกิจ องค์กรและสมาคมภาคธุรกิจส่วนใหญ่ เช่น British Retail Consortium, Trade Union Congress, Food and Drink Federation และ Confederation of British Industry รวมถึงบริษัทเอกชนบางกลุ่ม เช่น ADS ในภาคอุตสาหกรรมกลาโหม และ SMMT ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แสดงความยินดีกับความสำเร็จ ของการบรรลุความตกลงกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยสร้างความชัดเจนและแน่นอนมากขึ้นให้กับภาคธุรกิจและลดความโกลาหลในกระบวนการตรวจสอบสินค้าที่ด่านผ่านเข้าออก อีกทั้งจะช่วยให้พิธีการคัดกรองสินค้าและบุคคลที่บริเวณอ่าวไอริช ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันในหลักการเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 สามารถปฏิบัติได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ ตลาดการเงินในสหราชอาณาจักรในวันนี้ก่อนปิดเทศกาลคริสต์มาสมีความคึกคักทันทีโดยปิดตลาดด้วยค่าเงินปอนด์ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน ที่ผ่านมา (ประมาณ 1 ปอนด์ต่อ 1.36 ดอลลาร์สหรัฐ) และดัชนีตลาดหุ้น FTSE 100 และ FTSE 250 ปรับตัวขึ้นสูงสุด ในรอบปีนี้
.
โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเผยแพร่ร่างเอกสารความตกลงภายในสัปดาห์หน้า (29 ธ.ค. – 3 ม.ค.) และคาดว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่ออภิปรายและลงคะแนนเสียงในวันที่ 29 – 30 ธ.ค. 2563 ซึ่งหากนายกรัฐมนตรี Johnson สามารถโน้มน้าว ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ไว้ได้ ร่างความตกลงดังกล่าวน่าจะสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสหราชอาณาจักรได้ไม่ยาก เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมากที่เพียงพออยู่แล้ว และน่าจะมีผลใช้บังคับได้ทันในวันที่ 1 ม.ค. 2564
.
ซึ่งการที่สหภาพยุโรปบรรลุความตกลงกับสหราชอาณาจักรในกรณี Brexit นี้นั้นจะส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนและปริมาณการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากสหภาพยุโรปจะเป็นตลาดหลักของสหราชอาณาจักรโดยไม่มีภาษีและโควตา ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องควรติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและประเมินโอกาสอีกครั้ง นอกจากนี้ประเทศไทยยังควรเริ่มการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงเปิดเสรีการค้าทวิภาคีกับสหราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกให้กับไทยอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน