ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มูลค่าการนําเข้าและส่งออกระหว่างนครฉงชิ่งและประเทศในกลุ่มอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 การนําเข้าและส่งออกไปยังอาเซียนมีมูลค่า 93,190 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และคิดเป็นร้อยละ 17.8 ของการนําเข้าและส่งออกโดยรวมของนครฉงชิ่ง ทําให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของนครฉงชิ่ง ส่งผลให้นครฉงชิ่งได้สร้างความร่วมมือกับอาเซียนในเชิงลึกยิ่งขึ้นผ่านการพัฒนา 4 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก การใช้โอกาสจากการลงนามของรัฐบาลจีนในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ขยายขนาดการค้าทวิภาคี เสริมสร้างความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงระดับการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย พัฒนานครฉงชิ่งให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศตามนโยบายข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม
ประการที่สอง การปรับปรุงขีดความสามารถของพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการขนส่งทางบกและทางทะเลอย่างครอบคลุม ส่งเสริมการคมนาคมหลายรูปแบบ ผลักดันบทบาทของการขนส่งและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงระดับการเชื่อมต่อโครงข่ายของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางรถไฟ ทางหลวง ท่าเรือ สนามบิน และการสื่อสาร
ประการที่สาม ปรับปรุงระบบกลไกการทํางานของโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างจีน – สิงคโปร์อย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากเขตเมืองและมณฑลในภูมิภาคตะวันตกของจีน รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้นครฉงชิ่งจะทําหน้าที่ในการประสานงานและส่งเสริมการดําเนินโครงการด้านนวัตกรรม เพื่อการเชื่อมต่อแบบครบวงจร
ประการที่สี่ การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัล ขยายแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านดิจิทัล ดําเนินโครงการเศรษฐกิจดิจิทัล กําหนดรูปแบบการค้าดิจิทัล กระชับความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนา 5G การพัฒนาด้านทุนข้ามพรมแดน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน และด้านอื่น ๆ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู