โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่หยุดยั้งในโลกยุคปัจจุบัน และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการพลังงานมีมากขึ้นเป็นเท่าตัว แหล่งพลังงานในรูปแบบเดิมที่เป็นพลังงานฟอสซิลมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของปริมาณและมลพิษ ทำให้ทุกประเทศต่างพยายามที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
.
ในบรรดาพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไฮโดรเจนถือเป็นหนึ่งในพลังงานที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ การที่สหภาพยุโรป (European Union – EU) ได้ประกาศรับรอง “ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวภายในปี 2593
ในฐานะสมาชิกของสหภาพยุโรป รัฐบาลสเปนได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซ เมื่อปี 2533 (ค.ศ. 1990) โดยให้ความสำคัญกับไฮโดรเจนสีเขียวในฐานะแหล่งพลังงานทางเลือกที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานของประเทศเช่นกัน
ไฮโดรเจนนับเป็นธาตุที่พบมากที่สุดบนโลก แต่การจะนำมาใช้งานจะต้องแปรสภาพให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนเสียก่อน โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ อาทิ กระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊ส (Gasification) หรือ กระบวนการรีฟอร์มมิงด้วยไอน้ำ (Stream Methane Reforming) หรือ กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เหตุผลที่เรียกว่าไฮโดรเจนสีเขียว ก็เพราะใช้วัตถุดิบหรือสารตั้งต้นที่เป็นชีวมวลหรือของเสียอินทรีย์ จึงถือเป็นพลังงานหมุนเวียนและไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศระหว่างการผลิต ทำให้ไฮโดรเจนสีเขียวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรเจนประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนสีน้ำตาล หรือสีฟ้า
เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนได้อนุมัติแผน “Hydrogen Roadmap: a commitment to renewable hydrogen” เพื่อส่งเสริมไฮโดรเจนสีเขียวให้เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2593 ตลอดจนช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤต COVID-19 รวมถึงส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย แผนดังกล่าวประกอบด้วย มาตรการที่ครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม 60 มาตรการ และได้กำหนดเป้าหมายไว้หลายประเด็น เช่น ต้องติดตั้งอิเล็กโทรไลต์ไฮโดรเจนให้ได้ จำนวน 4 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ที่สหภาพยุโรปได้วางไว้ภายในปี 2573 ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 และทำให้สเปนบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
.
นอกจากนี้ สเปนยังมุ่งส่งเสริมให้สเปนเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวหรือพลังงานทดแทนของยุโรป โดยอาศัยความได้เปรียบด้านภูมิอากาศและภูมิประเทศที่สามารถรองรับการจัดตั้งโรงงานผลิตพลังงานทดแทนได้เป็นจำนวนมาก สำหรับความสามารถในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวของสเปนในปัจจุบัน สเปนมีความได้เปรียบในเรื่องการแข่งขันด้านราคาเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่ำกว่าเยอรมนีถึงร้อยละ 35 ทำให้ในอนาคตสเปนน่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่นในสหภาพยุโรป
.
การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ด้วยตนเองนั้น ยังช่วยให้สเปนลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ได้อย่างมาก เนื่องจากสเปนนำเข้าพลังงานอย่างก๊าซและน้ำมันถึงร้อยละ 73 ซึ่งหากการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลสเปนวางไว้ คาดว่า ในปี 2593 สเปนอาจลดการพึ่งพาพลังงานต่างประเทศเหลือเพียงแค่ร้อยละ 13 เท่านั้น และจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานระหว่างปี 2564 – 2593 ได้ถึง 344,000 ล้านยูโร เลยทีเดียว
.
ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนสเปนยังไม่กล้าที่จะพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวมากนัก เนื่องจากไม่มั่นใจในความเสี่ยงของตลาดพลังงาน และต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง แต่ภายหลังที่สหภาพยุโรปได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน” รวมทั้งการที่รัฐบาลสเปนได้ประกาศแผน Hydrogen Roadmap: a commitment to renewable hydrogen นั้น กลับช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้บริษัทพลังงานของสเปนเริ่มให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวกันอย่างจริงจังมากขึ้น และล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลสเปนได้ประกาศว่าจะจัดสรรงบประมาณ 1,500 ล้านยูโรจากกองทุนฟื้นฟูยุโรปมาใช้สำหรับพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวสเปนในช่วงปี 2564 – 2566 อีกด้วย
.
ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภายในปี 2579 โดยไทยได้จัดทำและปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan – AEDP 2018) เน้นการส่งเสริมพลังงานชีวภาพ ได้แก่ พลังงานจากขยะชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เป็นอันดับแรก เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันและลดปัญหาสภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่การขยายตัวในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมมากขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน
.
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานควรเรียนรู้จากสเปน และนำแผนส่งเสริมไฮโดรเจนสีเขียวของสเปนมาประยุกต์ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ และส่งเสริมการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหามลภาวะต่าง ๆ อาทิ PM 2.5 ที่มีปริมาณมากขึ้นและกำลังส่งผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยในปัจจุบัน และอาจต่อยอดไปสู่การสร้างสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ในประเทศให้มากขึ้น เช่นพลังงานไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอีกด้วย
.
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ info@globthailand.com
.
ที่มาของภาพ
https://cicenergigune.com/en/blog/european-hydrogen-strategy
https://dieselgasturbine.com/u-s-energy-department-invests-in-hydrogen-projects/
.
ที่มาข้อมูล
https://iie.fti.or.th/?p=4233#