จีนเป็นประเทศที่บริโภครังนกมากที่สุดในโลก กว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกได้จาก 3 ประเทศหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย นอกจากผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป และรังนกบริสุทธิ์ (รังนกที่ผ่านกระบวนการคัดขนแล้ว) แล้วมาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิเหนือชาติอื่นๆ ในการส่งออก “รังนกขน” (รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ไปยังตลาดจีนได้ซึ่งมีการประเมินว่ามูลค่าของตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะสูงแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี
.
จากข้อมูลของศุลกากร พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 เขตปกครองตนเองกว่างซี มีการนำเข้ารังนกรวม 3,072 กิโลกรัม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 981.7% โดยที่เมืองชินโจวเป็นพื่นที่ที่มีศักยภาพด้านการนำเข้ารังนกเพื่อการแปรรูปของประเทศจีน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปแบบครบวงจร” และท่าเรือเมืองชินโจว (Qinzhou Port) ถือว่าเป็น “ด่านนำเข้ารังนก” โดยสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้เปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก
.
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สวนอุตสาหกรรมรังนก” แม้ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่ก็เปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวจีนกับชาวมาเลย์เท่านั้น สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของนักธุรกิจรังนก(ไทย) ที่มีความพร้อมและมองเห็นโอกาสเข้าจับจอง “สวนอุตสาหกรรมรังนกเมืองชินโจว” ในการเป็นฐานการผลิตภัณฑ์รังนกเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ง่ายยิ่งขึ้น
.
การเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในสวนอุตสาหกรรมฯ นอกจากความได้เปรียบเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังได้รับนโยบายสนับสนุนจากส่วนกลาง เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว มีโปรโมชันที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในสวนอุตสาหกรรมฯ
.
ตัวอย่างเช่น การลด/ยกเว้นค่าเช่าที่ดินและอาคารโรงงาน ภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราพิเศษ 15% (อัตราทั่วไป 25%) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่ต้องนำส่งรัฐบาลท้องถิ่น (40% ของภาษีที่ต้องชำระ) แคมเปญจ่ายเงินรางวัล/เงินอุดหนุน การสนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับ การอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตราวีซ่าสำหรับนักลงทุนชาติ รวมถึงการหาสินเชื่อสกุลเงินหยวนจากธนาคารจีนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (Offshore RMB Load Backflow) ซึ่งเป็นการเสริมทางเลือกให้กับนักลงทุนในกรณีที่ธนาคารจีนในต่างประเทศมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำกว่าธนาคารในประเทศ
.
.
สอญ. ณ นครหนานหนิง