รถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 และส่วนต่อขยายรถไฟใต้ดินสาย 2 ของนครหนานหนิง พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว หลังผ่านการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินก่อนเปิดให้บริการจริงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปลายปีนี้
.
นอกจากนี้ นครหนานหนิงกำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 ที่วางแผนเปิดให้บริการในปี 2564 โดยรถไฟฟ้าสายนี้มีระยะทาง 20.2 กิโลเมตร 16 สถานี ใช้เงินลงทุนรวม 16,400 ล้านหยวน วิ่งให้บริการระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินไร้คนขับสายแรกของนครหนานหนิง
.
ในส่วนของรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 4 เป็นรถไฟใต้ดินที่วิ่งให้บริการเส้นทางทางฝั่งทิศใต้ของนครหนานหนิง โดยเฉพาะเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) พื้นที่ที่รัฐบาลมณฑลกำลังพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของนครหนานหนิง/มณฑล โดยรัฐบาลได้โยกย้ายหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาชั้นนำ สถานพยาบาลที่ทันสมัย ห้างร้านขนาดใหญ่ พร้อมทั้งย่านธุรกิจชั้นนำ (CBD) ย่านที่พักอาศัย และระบบผังเมืองที่ทันสมัยเข้าไปไว้อย่างครบครันแล้ว
.
ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ข้อมูลประจำปี 2562 ชี้ว่าปริมาณผู้โดยสารต่อวันของรถไฟฟ้าใต้ดินนครหนานหนิงมีความหนาแน่นมากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศจีน แซงหน้าเมืองขนาดใหญ่อย่างนครอู่ฮั่น นครหนานจิง นครฉางซา และนครฉงชิ่ง มีปริมาณผู้โดยสารสะสมมากกว่า 649 ล้านคน/ครั้ง ปริมาณผู้โดยสารต่อวันเฉลี่ย 5.1 แสนคน/ครั้ง (เคยทำสถิติสูงสุด 1.16 ล้านคนครั้งต่อวัน) การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมีสัดส่วน 41% ของการใช้ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อการเดินทางของชาวนครหนานหนิง
.
ด้วยเหตุนี้ “สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน” ทั้งในตัวสถานีและในขบวนรถได้กลายเป็น “สื่อทางเลือก” ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์และมีเดียเอเจนซีต่างให้ความสนใจและหันมาใช้สื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักการตลาดมองว่าการทำสื่อโฆษณาดังกล่าวมีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้รวดเร็วที่สุด
.
ในแวดวงการตลาด ถึงแม้ว่า “สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดิน” จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย แต่สำหรับเมืองเกิดใหม่ที่วิถีชีวิตของผู้คนกำลังเปลี่ยนอย่างนครหนานหนิง (และอีกหลายๆ เมืองในประเทศจีน) จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอีกช่องทางทางเลือกหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย
.
นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของมีเดียเอเจนซีไทยในการพัฒนาความร่วมมือและขยายตลาดโฆษณาร่วมกันมีเดียเอเจนซีท้องถิ่น โดยชูจุดแข็งด้านหัวคิดครีเอทีฟในการสร้างเนื้อหาโฆษณาที่แปลก แหวกแนว ทันสมัย และน่าดึงดูดของไทย ผ่านรูปแบบสื่อโฆษณาต่างๆ เช่น ดิจิทัลมีเดีย ป็อปอัปโฆษณา จอโฆษณา โปสเตอร์หรือสติกเกอร์ที่บันไดขึ้น-ลง (Sticker Stair Step) สติกเกอร์บนพื้นสถานี (Sticker Floor Wrap) พื้นผนังทางเดินและในตัวสถานี กระจกรถไฟฟ้า และในตัวรถไฟฟ้า
.
.
สอญ. ณ นครหนานหนิง