เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงอยู่ระหว่างการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์สะพานข้ามทะเล เชื่อม 3 เมืองท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว และเมืองเป๋ยไห่) ซึ่งสะพานดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญในพื้นที่รอบอ่าวเป่ยปู้ให้เติบโตอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง เสริมสร้างประสิทธิภาพงานขนส่ง และยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยรวม (total factor productivity)
สะพานข้ามทะเลอ่าวเป่ยปู้แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ สะพานหลงเหมินต้าเฉียว (Longmeng Bridge) ระหว่างเมืองฝางเฉิงก่าง – เมืองชินโจว เป็นสะพานที่มีความยาวที่สุดในมณฑล ระยะทางรวม 7.6 กิโลเมตร เป็นสะพานแขวนขนาดใหญ่ ตัวสะพานหลักมีความยาว 1,198 เมตร ช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องจราจร กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 วางแผนใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ใช้เงินลงทุน 5,710 ล้านหยวน (ตัวสะพานหลัก 1,742 ล้านหยวน)
.
และ สะพานต้าเฟิงเจียง (Dafengjiang Bridge) ระหว่างเมืองชินโจว – เมืองเป๋ยไห่ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษ G228 โครงการมีระยะทาง 5.03 กิโลเมตร เป็นสะพานคอนกรีตแบบคานหลายช่วง (continuous span) ตัวสะพานหลักมีความยาว 1,386 เมตร คอสะพานความยาว 3,644 เมตร ความกว้างพื้นสะพาน 33.5 เมตร กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 วางแผนใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ใช้เงินลงทุน 1,050 ล้านหยวน
.
เดิมที การคมนาคมขนส่งระหว่างเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย มีเพียงทางหลวงพิเศษเลียบชายฝั่งทะเล ซึ่งต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที แต่เมื่อก่อสร้างสะพานข้ามทะเลดังกล่าวเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางเหลือเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
.
สะพานดังกล่าวเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญในการพัฒนาและยกระดับความเป็นเมือง (Urbanization) ผ่านแผนการคลัสเตอร์เมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยตลอดเวลาหลายปีมานี้ เมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบการทำงานและบริการของเมืองสมาชิกแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง อาทิ โทรคมนาคม การท่องเที่ยว การท่าเรือ ระบบประกันสังคม ระบบพิธีการศุลกากร ระบบสำมะโนครัว การเงินการธนาคาร และการศึกษา
.
เมืองท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เป็นโมเดลการพัฒนากลุ่มเมืองแบบใหม่ที่มีระดับการเปิดสู่ภายนอก มีศักยภาพการแข่งขัน และมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผ่านแนวทางการแบ่งปันทรัพยากร การใช้ประโยชน์และเพิ่มโอกาสการพัฒนาเมืองอย่างเต็มที่ โดยเป็นต้นแบบการพัฒนาร่วมกันระหว่างพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลกับพื้นที่ภายใน และเป็นตัวกระตุ้นศักยภาพการพัฒนาของอ่าวเป่ยปู้ให้ก้าวขึ้นอีกระดับ|
.
เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้จึงเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองในฐานะประตูการค้าการลงทุนแห่งใหม่ระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนและผลักดันกว่างซีให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” ในทุกมิติและเป็นข้อต่อสำคัญบนระเบียงการค้าเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) ที่เชื่อมการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างจีน(กว่างซี)กับอาเซียน ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกมาก
.
ในแง่ของการขนส่งสินค้า การสร้างสะพานดังกล่าวช่วยเสริมประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ และสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในการแปรรูปและกระจายสินค้าต่อไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
.
.
.
ที่มา: https://thaibizchina.com/%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97/
สกญ. ณ นครหนานหนิง