สถาบัน Moody’s Investor service ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินคูเวต เป็นระดับ A1 จากระดับ Aa2 และเปลี่ยนภาพรวมความน่าเชื่อถือเป็น stable ในรายงานของ Moody’s ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 63
การตัดสินใจลดอันดับความน่าเชื่อถือของคูเวตสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของรัฐบาลคูเวตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการประเมินความแข็งแกร่งในสถาบันและการปกครองของคูเวตที่ต่ำลง นอกจากนี้ การที่คูเวตไม่สามารถออกกฎหมายอนุญาตการออกตราสารหนี้หรือถอนเงินจากกองทุนแห่งอนาคต (FGF) ทําให้สินทรัพย์ของคูเวตใกล้จะหมดลง เป็นอีกสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงของสภาพคล่อง
แม้ว่าความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของคูเวตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างมากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ความเสี่ยงขาขึ้นและความเสี่ยงขาลงของคูเวตกลับมีความสมดุลกันสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจของคูเวตที่ยังอยู่ในระดับ stable นอกจากนี้ คูเวตยังมีคลังสินทรัพย์ทางการเงินแห่งชาติขนาดใหญ่ที่ปันเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณทั่วไปตามกฎหมาย เพื่อไว้ใช้สํารองในการลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม Moody’s ยังเห็นถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ว่า ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังคงใช้มาตรการเพื่อบรรเทาการหยุดชะงักของกองทุนในระยะสั้น โดยที่ไม่ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหางบประมาณของประเทศในระยะยาว และหากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจนําไปสู่การใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่จนหมด นอกจากนี้ การที่กฎหมายหนี้สาธารณะของคูเวตยังไม่ผ่านสภา และการที่สินทรัพย์ในกองทุนสํารองของประเทศ (GRF) มีแนวโน้มจะถูกใช้จนหมดก่อนหมดปีงบประมาณนี้ ล้วนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
Moody’s มองว่า แม้ว่ากฎหมายหนี้สาธารณะจะผ่านการอนุมัติ แต่ก็ยังไม่น่าทําให้ยุทธศาสตร์ของกองทุนประเทศในระยะกลางมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนสําคัญที่ทําให้ Moody’s ตัดสินใจลดความน่าเชื่อถือของคูเวต โดยร่างกฎหมายหนี้สาธารณะของคูเวตที่ถูกปัดตกมีเพดานของหนี้สาธารณะอยู่ที่ 20 พันล้านดีนาร์คูเวตซึ่งก็น่าจะเพียงพอสําหรับการใช้ของรัฐบาลแค่เพียงสองปี ตามการคาดการณ์ของ Moody’s และแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถออกตราสารหนี้โดยไม่มีข้อจํากัดของเพดาน แต่ Moody’s ก็ประเมินว่า คูเวตต้องออกตราสารหนี้สาธารณะทั้งหมดสูงถึง 27.6 พันล้านดีนาร์คูเวตถึงจะเพียงพอสําหรับความต้องการของรัฐบาลในปีงบประมาณนี้และปีงบประมาณปี 2564
แม้ว่าขณะนี้จะมีการออกกฎหมายระงับการโอนย้าย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายรับของรัฐบาลไปยังกองทุนแห่งอนาคต (FRF) แต่รัฐบาลยังไม่ได้ส่งสัญญาณแก่รัฐสภาในการเข้าถึงกองทุนดังกล่าว ปัญหาการใช้เงินในกองทุน FRF เป็นปัญหาการเมืองซึ่งจะต้องใช้เวลานานในการถกเถียง ความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและรัฐบาลเป็นปัญหาเรื้อรังอีกปัญหาหนึ่งของคูเวตและส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมความน่าเชื่อถือของประเทศ
ผลกระทบ
ในอดีตที่ผ่านมา การที่รัฐบาลคูเวตไม่ได้ให้ความสําคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นไม่ได้มีผลกระทบเท่าใดนัก เพราะคูเวตมีผลดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีการเงินที่เกินดุลมาโดยตลอด แต่ปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความล่าช้าในการ หาแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสําหรับการหาเงินทุนระยะกลางของคูเวต ล้วนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคูเวต แม้รัฐบาลจะประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะหาทางลดการใช้จ่ายของรัฐ แต่งบประมาณประจําปี 2563/2564 ที่ผ่านมากลับไม่สอดคล้องกัน โดยมีการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1.6 เปอร์เซ็นต์ และรายรับของประเทศลดลง 56 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีแผนปฏิรูปการให้เงินอุดหนุน ซึ่งคิดเป็นจํานวนถึง 22 เปอร์เซ็นต์ของการใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินอุดหนุนด้านการรักษาพยาบาล และการศึกษาต่อในต่างประเทศ รายรับของประเทศคูเวตพึ่งพาน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยที่ 89 เปอร์เซ็นของรายรับของรัฐบาลระหว่างปี 2560-2562 ขณะที่ความก้าวหน้าในการหาแหล่งรายได้อื่น นอกเหนือจากการส่งออกน้ำมันยังคงล่าช้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่รัฐสภาปฏิเสธมาตรการทุกทางที่จะส่งผลต่อการลดคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ รัฐสภายังไม่สามารถผ่านกฎหมายบังคับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดย Moody’s คาดว่ารัฐสภาจะสามารถผ่านกฎหมายดังกล่าวได้เร็วที่สุดในปี 2565-2566 ซึ่งขัดกับการคาดการณ์ของรัฐบาลว่าจะสามารถดําเนินการได้ในปีหน้า ภาษีสรรพสามิตที่รัฐวางแผนจะเริ่มเก็บสําหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและบุหรี่ในปีนี้ก็ถูกชะลอออกไป จากการที่คูเวตไม่มีมาตรการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินที่กล่าวมา กอปรกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงในช่วงนี้ Moody’s คาดว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณถึง 13.7 พันล้านดีนาร์คูเวตในปีนี้ (38 เปอร์เซ็นต์ของ GDP)
สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต