อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Electronic and Information Industry) เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่นครหนานหนิงกำลังส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับในเชิงคุณภาพ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ระบบอัตโนมัติ (หุ่นยนต์จักรกล) และการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
[su_spacer]
ในบริบทที่นครหนานหนิงได้ปฏิรูปกฎ ระเบียบ และขั้นตอนการลงทุน เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางการลงทุนให้เป็นที่น่าดึงดูดแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศของนครหนานหนิงได้ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “ยักษ์ใหญ่เบิกทาง” กล่าวคือ นครหนานหนิงจะดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่เข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานในนครหนานหนิง และเป็นปกติที่บริษัทจะขยายโครงการลงทุนเพื่อป้อนสายการผลิตในเวลาต่อมา อีกทั้งการเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ จะช่วยดึงดูดให้บริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเข้ามาลงทุนในนครหนานหนิงด้วย
[su_spacer]
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบริษัท INSPUR ผู้นำด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารเทศชั้นนำของจีนจากเมืองเซินเจิ้น ได้เข้ามาลงทุนพัฒนาห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจรในนครหนานหนิง ประกอบด้วยสำนักงานใหญ่ สายการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์คลาวด์และบิ๊กดาต้า ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี และฐานบ่มเพาะธุรกิจ เช่นเดียวกับบริษัท AAC Technologies บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาโซลูชันและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และยานยนต์ไร้คนขับ ที่ได้เข้ามาลงทุนและขยายโครงการลงทุนด้านการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง
[su_spacer]
บริษัท Longcheer ผู้ให้บริการและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายชั้นนำระดับโลกจากนครเซี่ยงไฮ้ ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตอุปกรณ์การฟังที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และช่วยดึงดูดให้บริษัทที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำ-ปลายน้ำเข้ามาลงทุนด้วย เช่น บริษัท Ho-Sound Electronic Technology บริษัท Goertek ช่วยทำให้เกิดระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecosystem) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
[su_spacer]
บริษัท Huawei ก็ได้เข้ามาลงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมคลาวด์และการพัฒนาซอฟแวร์หัวเหวยในนครหนานหนิง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “DevCloud” ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลของนครหนานหนิงและทั้งมณฑล โดยมีอินเทอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง การผลิตอัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก รวมทั้งยังได้พัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนท้องถิ่นในการจัดตั้งฐานการผลิตนวัตกรรมคุนเผิงที่เน้นการผลิตเครื่องเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิป Huawei Kunpeng
[su_spacer]
ปัจจุบัน พื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากเขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหนานหนิง (Nanning Hi-Tech Zone) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีหนานหนิง (Nanning Economic and Technological Development Area) และนิคมอุตสาหกรรมเจียงหนาน (Nanning Jiangnan Industrial Zone) แล้ว ยังมีพื้นที่ตอนล่างของเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District) ด้วย
[su_spacer]
ตามรายงาน โครงการพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐาน (เฟสสอง) จำนวน 9 หลัง จะใช้รองรับการลงทุนด้านการผลิตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ โดยเฉพาะเครือข่ายการสื่อสารข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ และปัญญาประดิษฐ์ โดยได้ทำการก่อสร้างโครงสร้างภายนอกอาคารเสร็จแล้ว คาดว่าพร้อมส่งมอบในเดือนกันยายน 2563 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโรงงานมาตรฐานในพื้นที่เขตเมืองใหม่ และเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต
[su_spacer]
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน นครหนานหนิงและเมืองต่าง ๆ ในกว่างซี กำลังเดินหน้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมสู่ดิจิทัลตามเป้าหมาย Digital Guangxi นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การปฏิรูปและบูรณาการระบบงานราชการ และราชการกับเอกชนแล้ว ยังส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีเป้าหมาย Digital Thailand เช่นเดียวกัน และยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นสินค้านำเข้า-ส่งออกที่สำคัญระหว่างประเทศไทยกับเขตฯ กว่างซีจ้วง ดังนั้น นักลงทุนไทยสามารถมาลงทุนกับกว่างซีในธุรกิจด้านนี้ได้ โดยใช้สิทธิประโยชน์จากนโยบายและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมอยู่แล้วของกว่างซี รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี)
[su_spacer]
[su_spacer]