การพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง ช่วยยกระดับพื้นที่โดยรอบให้มีความทันสมัย กระตุ้นการค้าขายและการท่องเที่ยวตามสถานที่ระหว่างทาง การขนส่งที่มีความสะดวก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถนำโอกาสที่ดีมาสู่การพัฒนาเมืองได้ สนามบินถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเมืองที่มีประชากรเกินกว่า 500,000 คนขึ้นไป ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดสมัยใหม่ในทุกประเทศจึงได้มุ่งพัฒนาให้สนามบินเป็นสถานที่รวมความสะดวกสบายสำหรับผู้คนขณะเดินทาง
[su_spacer]
ในปี 2564 นครเฉิงตูจะมีสนามบินนานาชาติจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติซวงหลิวและสนามบินนานาชาติเทียนฝู่ ถือเป็นเมืองที่มีสนามบินนานาชาติระดับประเทศ 2 แห่ง เป็นเมืองที่ 3 ต่อจากกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้กำหนดให้สำนักงานการบินพลเรือนแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) สนามบินนานาชาติเทียนฝู่จะเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการขนส่งระดับนานาชาติ และ Domestic Transit ภายในประเทศ และ (2) สนามบินนานาชาติเฉิงตูซวงหลิว จะเป็นศูนย์กลางในการให้บริการเส้นทาง Premium Routes เส้นทางบินสำหรับกลุ่มข้าราชการ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ และยังคงรองรับเส้นทางการบินจากนครเฉิงตูไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน
[su_spacer]
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยจีน ณ นครเฉิงตู ได้มีโอกาสเยี่ยมชมสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ สนามบินแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในเมืองเจี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน มีกำหนดเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2564 และได้รับการผลักดันให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีนด้วย
[su_spacer]
เพราะเหตุใดจึงเลือกเมืองเจี่ยนหยาง เป็นที่ตั้งสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของมณฑลเสฉวน เนื่องจากเมืองเจี่ยนหยางตั้งอยู่พื้นที่ทางทิศตะวันตกของนครเฉิงตู เป็นเมืองแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑล และเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาสังคมและเมืองด้วยนวัตกรรม ในปี 2562 GDP ของเมืองมีมูลค่า 50,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากปี 2561 จัดอยู่ในอันดับที่ 92 ในระดับประเทศ เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการลงทุนอันดับ 91 ในระดับประเทศ และอันดับ 15 ของภูมิภาคตะวันตกของจีน หากมองในแง่ของด้านภูมิศาสตร์ เมืองเจี่ยนหยางห่างจากใจกลางเมืองนครเฉิงตูประมาณ 48 กิโลเมตร และห่างจากใจกลางมหานครฉงชิ่ง 220 กิโลเมตร เดินทางเข้าถึงทั้งสองพื้นที่ได้อย่างสะดวก คาดว่าการสร้างสนามบินแห่งใหม่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นหรือแถบชานเมือง สร้างโอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น เชื่อว่า เมืองเหมยซานและเมืองจือหยางที่มีบริเวณใกล้กับสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ ก็จะได้รับโอกาสและผลประโยชน์ในการพัฒนาเมืองจากการสร้างสนามบินแห่งใหม่นี้ด้วย
[su_spacer]
ภาพรวมสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่
[su_spacer]
สนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ ตั้งอยู่บริเวณหลักของวงกลมเขตเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง การวางแผนและก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเมืองและมณฑล โดยเฉพาะการสร้างเมืองศูนย์กลางแห่งชาติที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนาใหม่ของนครเฉิงตู ทว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่สอดคล้องกับการปฏิรูปเมืองไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ระบบและขั้นตอนการพัฒนาเมือง บทบาทของเมืองในระดับประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจของเมือง ต่างสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการระดับสูงของนครเฉิงตูและเมืองเจี่ยนหยาง การก่อสร้างสนามบินแห่งนี้ ถือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 และเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2559 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2563 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในครึ่งแรกของปี 2564 ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับเส้นทางบินระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 330,000 ตารางกิโลเมตร มี 6 รันเวย์ ตัวอาคารมีทั้งหมด 7 ชั้น โดยแบ่งเป็น 5 ชั้นเหนือจากพื้นดิน และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีการออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินประมาณ 710,000 เที่ยว/ปี และคาดว่าจะสามารถรองรับสินค้าได้ 700,000 ล้านตันในปี 2568 สนามบินแห่งนี้ถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลและเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศระดับชาติ โดยอาศัยแนวคิดสนามบินชั้นนำ เน้นนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเปิดสู่โลกภายนอกของมณฑลเสฉวน ส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมด้วย
[su_spacer]
แม้ในระยะ 5 เดือนที่ผ่านมา การก่อสร้างสนามบินจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ทางวิศวกรของการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ได้เร่งการทำงานโดยเพิ่มบุคลากรและแรงงาน รวมทั้งเพิ่มทรัพยากรด้านวัสดุในการก่อสร้าง ปรับขั้นตอนและกระบวนการในการก่อสร้าง เพื่อทดแทนความเสียหายที่ได้รับในระยะการก่อสร้างในไตรมาสแรก และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการเดิม ณ ปัจจุบัน มีการลงทุนรวมกว่า 520 ล้านหยวน ในการสร้างรันเวย์ 3 แห่ง อาคารผู้โดยสาร และโครงการที่เกี่ยวข้อง และได้มีการกำหนดการรองรับผู้โดยสารโดยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ย 50 ล้านคน/ปี
[su_spacer]
สนามบินแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสารทั้งหมด 4 อาคาร ได้แก่ อาคารผู้โดยสาร 1 อาคารผู้โดยสาร 2 อาคารผู้โดยสาร 3 และ อาคารผู้โดยสาร 4 ปัจจุบัน มีสายการบินสัญชาติจีน 4 บริษัท ที่จะเปิดให้บริการ ณ สนามบินแห่งนี้ ได้แก่ สายการบิน Air China สายการบิน Sichuan Airlines สายการบิน China Eastern Airlines และ สายการบิน Lucky Air ภายในอาคารประกอบไปด้วยพื้นที่การค้าการลงทุน อาคารผู้โดยสาร GTC (Global Translator Community หรือศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน) อาคารปฏิบัติการ พื้นที่ระบบการคุ้มครองการบิน พื้นที่สำหรับอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก และสถานอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งมีการสร้างสวนสาธารณะระบบนิเวศวิทยาด้วย
[su_spacer]
อาคารผู้โดยสาร 1 (Terminal 1) อยู่ทางฝั่งตะวันตก เปิดการใช้งานในเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ คาดว่าพร้อมที่จะเปิดทำการในวันที่ 30 กันยายน 2563 มีพื้นที่ก่อสร้าง 337,200 ตารางเมตร ความยาวจากเหนือจรดใต้ 1,283 เมตร และมีความกว้างจากทิศตะวันออกไปตะวันตก 520 เมตร ระยะห่างระหว่างพื้นและหลังคา 45 เมตร ถือเป็นอาคารผู้โดยสารชั้นหนึ่งของสนามบิน ภายในอาคารผู้โดยสารมีระยะทางจากทางเข้าสนามบินไปยังประตูขึ้นเครื่องเพียง 750 เมตร ซึ่งใช้เวลาเดินเพียง 6 – 7 นาที นอกจากนั้น ยังมีการกระจายศูนย์ให้บริการกับผู้โดยสารในรูปแบบวงกลม ทำให้ระยะเวลาในการขึ้นเครื่องสั้นลงอย่างมาก อาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2) ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันออก เพื่อรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ เริ่มการก่อสร้างอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ธันวาคม 2560 มีพื้นที่ก่อสร้าง 330,000 ตารางเมตร รูปทรงคล้ายนกของเทพเจ้าที่กำลังกางปีก โดยแบ่งเป็น 5 ชั้นเหนือจากพื้นดิน และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น สำหรับอาคารผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) และอาคารผู้โดยสาร 4 (Terminal 4) อยู่ในกระบวนการวางแผนการก่อสร้าง
[su_spacer]
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ อาคารผู้โดยสาร GTC และอาคารปฏิบัติการ ได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ในขั้นตอนต่อไปจะเร่งการตกแต่งและการติดตั้งอุปกรณ์ภายในอาคาร เทพื้นปูนซีเมนต์บริเวณทางเท้าภายในสนามบิน เปิดใช้งานแหล่งกระจายน้ำประปา ก่อสร้างรันเวย์อัจฉริยะ 3 รันเวย์ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ยังได้ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนั้น ได้เร่งให้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดใช้งาน Airport Express South Line
[su_spacer]
ทว่า การพัฒนาก่อสร้างพื้นที่แห่งใหม่ที่มีระยะทางไกลจากตัวเมืองมากขึ้น ย่อมตามมาด้วยอุปสรรคด้านการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้วางแผนการก่อสร้างโครงข่ายการเดินทางจากสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ ไปยังสนามบินนานาชาติเฉิงตู ซวงหลิว ที่มีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ในระบบการขนส่งแบบสามมิติ โดยเชื่อมสถานีทางผ่านและสถานีปลายทางเข้าด้วยกัน การเดินทางโดยสรุปมีดังนี้
[su_spacer]
- เส้นทางรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน ได้แก่ เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 18 สาย 19 และสาย 20 โดยเส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 18 ถือเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังสนามบินแห่งใหม่ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างใจกลางนครเฉิงตูและท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ด้วย มีระยะทางกว่า 66.71 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งสิ้น 12 สถานี เริ่มจากสถานีรถไฟเฉิงตูใต้ ผ่านเขตไฮเทคโซน เขตเทียนฝู่ใหม่ ภูเขาหลงฉวน และเข้าสู่สถานีปลายทางคือท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ รถไฟใต้ดินสาย 18 ถือเป็นรถไฟที่มีการทำงาน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) รถไฟฟ้าสายด่วน (Express Line) เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร 1 และอาคารผู้โดยสาร 2 โดยจะให้บริการสถานีระหว่างทางเพียง 2 แห่ง คือสถานี Western China International Expo City และ New Tianfu Railway Station เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงสถานที่สำคัญของเมือง ผ่านการให้บริการด้วยความเร็วกว่า 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นรถไฟใต้ดินสายแรกของประเทศที่ให้บริการด้วยความเร็วดังกล่าว และใช้เวลาเดินทางจากสถานีรถไฟเฉิงตูใต้ (สาย 7) ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่เพียง 35 นาทีเท่านั้น และ (2) รถไฟใต้ดินแบบทั่วไป จะให้บริการทั้ง 12 สถานี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 40 – 50 นาที
- การเดินทางผ่านเส้นทางด่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินนานาชาติเฉิงตู ซวงหลิวไปยังสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ มีดังนี้
- ทางด่วนสายสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ – ทางด่วนรอบเมืองวงแหวนที่สอง – ทางด่วนสายเฉิงจื้อหลู – ทางด่วนรอบเมือง – ทางด่วนสนามบินนานาชาติเฉิงตู ซวงหลิว
- ทางด่วนสายสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ – ทางด่วนรอบเมือง – ทางด่วนสนามบินนานาชาติเฉิงตู ซวงหลิว
- ทางด่วนสายสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ – ทางด่วนรอบเมืองวงแหวนที่สอง – ทางด่วนสนามบินนานาชาติเฉิงตู ซวงหลิว
[su_spacer]
นอกจากนั้น การเดินทางเข้าสู่สนามบินนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่ยังสามารถเดินทางผ่านทางด่วนเจี่ยนซาน ทางด่วนจือซาน และทางด่วนเจี่ยนเหรินได้ สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล เส้นทางด่วนวงแหวนรอบเมืองต่าง ๆ จะถูกกำหนดให้มีความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตร / ชั่วโมง เส้นทางจากสนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ ไปยังเส้นทางบริเวณเขตเศรษฐกิจเฉิงตูจะถูกกำหนดให้มีความเร็วอยู่ที่ 100 กิโลเมตร / ชั่วโมง โดยการเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าวข้างต้น จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
[su_spacer]
บทวิเคราะห์
[su_spacer]
การก่อสร้างสนามบินนานาชาติเทียนฝู่ ถือเป็นโครงการหนึ่งที่สำคัญของจีนต่อการพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ การเชื่อมโยงทรัพยากรระดับโลกและตลาดต่างประเทศจะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ของโลกได้มากยิ่งขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายเททรัพยากร รวมถึงการถ่ายเทเงินทุน เทคโนโลยีและข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นพลวัตร ขณะนี้สนามบินนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ กำลังเร่งดำเนินการเปิดตัว เพื่อช่วยให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองศูนย์กลางของจีนตะวันตกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ไปยังยุโรป แอฟริกา และประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ นอกจากนั้น สนามบินแห่งนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย การประยุกต์ใช้การผลิตแบบอัจฉริยะมาเป็นฐานรากในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่นี้ รวมถึงการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ในระดับสูงต่อไป ดังนั้น ในอนาคตสนามบินนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู่จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการขนส่งและกระจายสินค้า รวมทั้งโอกาสในการแข่งขันสำหรับภาคธุรกิจไทยในภูมิภาคจีนตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
[su_spacer]
[su_spacer]