รัฐบาลกว่างซีเร่งเดินหน้าโครงการ “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เพื่อพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวขึ้นเป็นชุมทางการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศกับอาเซียน รองรับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) เป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระดับภูมิภาค และเป็นพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรและทันสมัย โดยคาดหมายว่าโครงการทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จภายในปลายปี 2566
[su_spacer]
“ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เป็นหนึ่งใน Key Project ที่รัฐบาลกว่างซีสร้างขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเส้นทางการขนส่ง มีบริษัท Nanning International Railway Port Development and Operation Co.,Ltd. ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลนครหนานหนิงและการรถไฟนครหนานหนิง เป็นผู้ดำเนินการ (บริษัทฯ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา)
[su_spacer]
ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง (คาบเกี่ยวระหว่างเขตเจียงหนานกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจ) มีเนื้อที่ประมาณ 3,392 ไร่ มีมูลค่าเงินลงทุน 13,000 ล้านหยวน ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งได้ปีละ 20 ล้านตัน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 เฟส ได้แก่
[su_spacer]
- เฟสแรก เน้นฟังก์ชันการขนส่งทางรถไฟ อาทิ รางรถไฟที่ใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รางรถไฟที่ใช้ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ เขตโลจิสติกส์สินค้าบรรจุหีบห่อทางถนน เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และรางรถไฟที่ใช้ขนส่งเหล็กกล้า เปิดให้บริการฟังก์ชันการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าขนาดใหญ่ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ส่วนฟังก์ชันที่เหลือ คาดว่าจะผ่านการตรวจรับและเปิดให้บริการได้ภายในปลายเดือนสิงหาคม 2563 (ตั้งแต่เปิดให้บริการ มีการจัดส่งสินค้าไปแล้ว 5.429 ล้านตัน
- เฟสที่ 2 (ปี 2562-2564) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 3 ส่วน คือ เขตโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และเขตโลจิสติกส์เหล็กกล้าและด่านถนน
- เฟสที่ 3 (ปี 2563-2565) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 2 ส่วน คือ เขตโลจิสติกส์ตู้คอนเทนเนอร์เย็น และย่านใจกลางธุรกิจ
- เฟสที่ 4 (ปี 2564-2566) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 3 ส่วน คือ เขตกระจายสินค้าย่านเมือง เขตโลจิสติกส์ยานยนต์ และเขตบริการที่พักอาศัย
[su_spacer]
ฟังก์ชันหลักของ “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” อยู่ภายใต้โมเดล “1 ศูนย์กลาง 2 ท่า 7 เขต” กล่าวคือ “1 ศูนย์กลาง” หมายถึง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ “2 ท่า” ได้แก่ ท่ารถไฟ เน้นการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และท่ารถ(ทางถนน) เน้นงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และ “7 เขต” ได้แก่ เขตโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น เขตโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า (Port logistics) เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร เขตโลจิสติกส์ยานยนต์ เขตโลจิสติกส์เหล็กกล้า เขตกระจายสินค้าสู่พื้นที่ตัวเมือง และเขตบริการที่พักอาศัย
[su_spacer]
นอกจากนี้ ศูนย์ดังกล่าวยังเป็น “ข้อต่อ” สำคัญในการขนส่งสินค้าของชุมทางรถไฟนครหนานหนิงที่จะช่วยให้การกระจายสินค้าทั้งในมณฑลและระหว่างมณฑลมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสายตะวันออกผ่านเมืองหลิ่วโจวไปยังมณฑลตอนกลาง (หูหนาน) ตะวันตก (กุ้ยโจว ฉงชิ่ง เสฉวน) และตะวันออก (กวางตุ้ง) ของประเทศ สายตะวันตก ไปยังอำเภอระดับเมืองผิงเสียงจนถึงเวียดนาม และมณฑลตะวันตก (ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน) สายใต้ ไปยังเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ (เป๋ยไห่ ชินโจว ฝางเฉิงก่าง) สายเหนือ เชื่อมต่อกับระบบงานขนส่งประเภทอื่น เช่น รถบรรทุก เครื่องบิน และระบบงานขนส่งหลายรูปแบบเรือต่อรถไฟ เครื่องบินต่อรถไฟ
[su_spacer]
ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทั้งการขนส่งและกระจายสินค้า โกดังสินค้า การแปรรูปและบรรจุหีบห่อ การฝากสินค้าและสินค้าทัณฑ์บน(ปลอดภัย) การซื้อขายสินค้า ข้อมูลสารสนเทศ อีคอมเมิร์ซ และเช่าซื้อ (Leasing) โดยเน้นสินค้ากลุ่มหลัก อาทิ เหล็กกล้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และเครื่องไฟฟ้าโลหะ
[su_spacer]
การเปิดให้บริการศูนย์รถไฟสินค้าครั้งนี้ช่วยยกระดับฟังก์ชันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทางรถไฟในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจบริการในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาลงทุนที่นครหนานหนิง ช่วยส่งเสริมการเป็น “ฮับ” การกระจายสินค้าระดับภูมิภาค และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศได้อีกด้วย
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง