ภูมิภาคคันไซ หรือญี่ปุ่นตะวันตกมีจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น โอซากา (บริษัท Daikin/ Panasonic/ Sharp) เกียวโต (Kyocera/ Omron/ Nintendo) และเฮียวโกะ (Kawasaki Heavy Industry) และยังเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อยที่มีเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะตัวจำนวนมาก เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมายาวนาน จากสถิติล่าสุดของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (Gross Regional Product – GRP) ของคันไซ 7 จังหวัด (โอซากา มิเอะ ชิกะ เกียวโต เฮียวโกะ วากายามะ และนาระ) มีมูลค่า 89 ล้านล้านเยน (852.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ประมาณร้อยละ 17.3 ของ GDP ของประเทศญี่ปุ่น คิดเป็นอันดับที่ 18 ของโลก มีขนาดของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศตุรกีและเนเธอร์แลนด์
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการนำเข้าและส่งออก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบในวงกว้าง และอาจประสบภาวะเศรษฐกิจชะงักงันไปอีกระยะหนึ่งภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลายลง
[su_spacer]
ในส่วนของคันไซ สถาบันวิจัย Resona คาดการณ์ผลกระทบจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างวันที่ 7 เมษายน – 6 พฤษภาคม 2563 ซึ่งทำให้ประชาชนเดินทางออกจากบ้านน้อยลงว่า การบริโภคในคันไซในช่วง 1 เดือนดังกล่าวจะลดลงประมาณ 8.493 แสนล้านเยน หรือประมาณ ร้อยละ 1 ของ GRP ของคันไซ ขณะที่ Asia Pacific Institute of Research (APIR) ซึ่งเป็น think tank ในจังหวัดโอซากาประเมินว่าเนื่องจากเศรษฐกิจของคันไซพึ่งพาการส่งออกไปจีนและนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เศรษฐกิจของคันไซจึงได้รับผลกระทบอย่างมากโดยสถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือกรณีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคคันไซสูญเสียรายได้จากการส่งออก 2.958 แสนล้านเยน และรายได้จากการท่องเที่ยว 2.387 แสนล้านเยน รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่ากับ 5.345 แสนล้านเยน และจะทำให้ GRP ของคันไซในปี 2563 ขยายตัวลดลงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้ GRP เป็น 0 หรือติดลบ
[su_spacer]
สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าด้านสุขอนามัยและเวชภัณฑ์ที่สำคัญเช่น หน้ากากอนามัย ขาดตลาด ขณะที่สินค้าบางรายการมียอดจำหน่ายลดลง หลายบริษัทในคันไซจึงได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสายการผลิตของบริษัท ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะตลาด และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างที่น่าสนใจดังเช่น
[su_spacer]
บริษัท Yamamoto (จังหวัดโอซากา) ผู้ผลิตชุดดำน้ำ wetsuit ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นคลุมหน้ากากอนามัย “Biola 3 mask cover” โดยใช้วัสดุเดียวกับชุด wetsuit ซึ่งมีคุณลักษณะยืดหยุ่นและกันน้ำได้ สามารถใส่แผ่นคลุมนี้ไว้ด้านในหรือด้านนอกของหน้ากากอนามัยทั่วไปและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ กรณีใส่ด้านในของหน้ากากอนามัยจะช่วยให้สามารถใช้หน้ากากอนามัยซ้ำได้ โดยเริ่มผลิตจำหน่ายให้สถานพยาบาลผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว
[su_spacer]
บริษัท Koushi Chemical Industry (จังหวัดโอซากา) ผู้ผลิตพลาสติกสำหรับอุปกรณ์สำนักงาน เช่น มือจับสำหรับลิ้นชักเก็บของ อยู่ระหว่างพัฒนาอุปกรณ์เสริมสำหรับมือจับประตูบานเลื่อน (Door Handle Attachment) ที่จะช่วยให้สามารถเลื่อนประตูได้โดยใช้แขน หรือส่วนอื่นของร่างกายแทน เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการใช้มือสัมผัส โดยทั่วไปในญี่ปุ่นจะใช้ประตูบานเลื่อนในโรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสะดวกต่อการขนย้ายเครื่องมือและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ บริษัทฯ จะสามารถผลิต Door Handle Attachment จำหน่ายได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยจำหน่ายให้สถานพยาบาลเป็นหลัก
[su_spacer]
บริษัท Kimura Soap (จังหวัดโอซากา) ผู้ผลิตสบู่ ซึ่งมียอดจำหน่ายลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้พัฒนาโลชั่นทามือ (Hand Milk) ที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้มือ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องล้างมือบ่อยครั้งและเกิดปัญหามือแห้งแตก รวมทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาน้ำยาซักหน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันเชื้อโรคและขจัดรอยเปื้อนจากเครื่องสำอางได้โดยไม่ระคายเคืองต่อผิว
[su_spacer]
บริษัท Matsuda Paper Industry (จังหวัดโอซากา) ผู้ผลิตและจำหน่ายลังบรรจุสินค้า คิดค้นแผ่นฉากกั้นที่ทำจากกระดาษลัง สำหรับติดตั้งที่เคาน์เตอร์บริการ เพื่อใช้ป้องกันฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจระหว่างการติดต่อประสานงานกับผู้ขอรับบริการ แผ่นฉากกั้นดังกล่าวมีขนาดสูง 1 เมตร กว้าง 88 เซ็นติเมตร เจาะช่องติดแผ่นเรซินใสบริเวณกึ่งกลางแผ่น เพื่อให้เห็นหน้าได้ และมีช่องด้านล่างสำหรับยื่นเอกสาร
[su_spacer]
บริษัท Takara Shuzo (จังหวัดเกียวโต) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องปรุงอาหาร เพิ่มปริมาณการผลิตแอลกอฮอล์เอทานอลประเภทสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ตามคำขอของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น
[su_spacer]
บริษัท Shima Seiki (จังหวัดวากายามะ) ผู้ผลิตเครื่องจักรด้านสิ่งทอชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งผลิตเครื่องจักรทอผ้า “WHOLEGARMENT” (ถักทอเส้นใย 3D โดยโปรแกรมอัตโนมัติ) ได้พัฒนาโปรแกรมทอหน้ากากผ้า 3D ซึ่งรับกับรูปหน้าของผู้สวมใส่ รวมทั้งมีช่องสำหรับใส่แผ่นกรองอากาศ โดยใช้เวลาผลิตภายใน 8 นาที โปรแกรมดังกล่าวเปิดให้ลูกค้าของบริษัทฯ ใช้งานได้ นอกจากนี้ บริษัท Leg Knit Kurisu ผู้ผลิตถุงเท้ารายใหญ่ของ จ. นาระ ซึ่งใช้เครื่องจักรของ Shima Seiki มีแผนที่จะผลิตหน้ากากผ้าออกจำหน่าย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน
[su_spacer]
บริษัท Ohgi Technological Creation (จังหวัดชิกะ) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์คาร์บอน ได้พัฒนาแผ่นกรองอากาศสำหรับใส่ในหน้ากากอนามัย โดยเป็นแผ่นกรองอากาศ 2 แผ่นคู่ ได้แก่ แผ่นกรองอากาศแบบที่ใช้ในเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งมีเอนไซม์ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์และแผ่นกรองที่มีถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ช่วยในการดูดกลิ่นและสิ่งสกปรก แผ่นกรองดังกล่าวได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เป็นต้น
[su_spacer]
นอกจากบริษัทต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากสิ่งของในชีวิตประจำวันเพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยและแว่น goggles ขาดตลาด เช่น ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ Kiyokazu Nakajima ประจำ Department of Next Generation Endoscopic Intervention ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอซากา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องได้ร่วมกับบริษัท Charmant ผู้ผลิตกรอบแว่นตารายใหญ่ของจังหวัดฟุคุอิ คิดค้นการทำหน้ากากคลุมหน้า (face shield) จากแฟ้มใสขนาด A4 โดยใช้ประกอบกับกรอบหน้ากากที่ทำจากเรซินขึ้นรูปโดยเครื่องพิมพ์ 3D ใช้เวลาในการผลิตประมาณ 1 ชั่วโมง ต้นทุนการผลิตต่อชิ้นประมาณ 100 – 340 เยน ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ Nakajima ได้เผยแพร่แบบ 3D สำหรับผลิตกรอบหน้ากาก (3D Data for face shield) ในเว็บไซต์ http://www.project-engine.org/faceshield.html ซึ่งเปิดให้สาธารณชนใช้ข้อมูลดังกล่าวได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์
[su_spacer]
ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาในคันไซในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และแสวงหาโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการของแต่ละบริษัทแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและช่วยบรรเทาปัญหาสังคมอีกด้วย
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา