เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) จัดการประชุม International Monetary and Financial Committee ครั้งที่ 41 โดยมีนาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank – ECB) เข้าร่วมผ่านการประชุมทางไกลด้วยนั้น ที่ประชุมได้วิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโร และนโยบายการเงินของ ECB จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
[su_spacer]
- แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจของเขตยูโร
[su_spacer]
1.1 ข้อมูลทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจในเขตยูโร เนื่องจากผลผลิตและตลาดแรงงานในเขตยูโรหดตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการคาดการณ์ขอบเขตและระยะเวลาของภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวในภายหลัง
1.2 อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาในหมวด พลังงาน และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นจะลดลงอีก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากวิกฤตจากไวรัส COVID-19
1.3 IMF คาดการณ์ว่า เขตยูโรจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุด โดยจะหดตัวลดลงถึงร้อยละ 7.5 ในปี 2563 และจะฟื้นตัวประมาณร้อยละ 4.7 ในปี 2564
[su_spacer]
- นโยบายการเงินของECB
[su_spacer]
2.1 ECB ปรับขนาดการซื้อสินทรัพย์สุทธิภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Programme – APP) ที่ดำเนินอยู่แล้ว และเปิดตัวโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินสำหรับโรคระบาดใหญ่ (Pandemic Emergency Purchase Programme – PEPP) ซึ่งเป็นโครงการซื้อสินทรัพย์ชั่วคราวครั้งใหม่สำหรับหลักทรัพย์ภาครัฐและภาคเอกชน รวมจำนวน APP และ PEPP คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโร ภายในสิ้นปี 2563
2.2 ECB เพิ่มการขยายจำนวนสินทรัพย์ที่มีสิทธิ์ภายใต้โครงการจัดซื้อภาคธุรกิจ (Corporate Sector Purchase Programme – CSPP) โดยรวมเอกสารทางการค้าที่ไม่ใช่เอกสารการเงินด้วย นอกจากนี้ การซื้อสินทรัพย์ภายใต้โครงการ PEPP สามารถดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นตลอดเวลา จึงส่งผลให้การส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังภาคส่วนเศรษฐกิจและภูมิภาคที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนได้อย่างราบรื่น
2.3 ECB ดำเนินมาตรการรีไฟแนนซ์ระยะยาวเพิ่มเติม (longer-term refinancing operations – LTROs) เพื่อให้มั่นใจว่า ระบบการเงินจะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธนาคารจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของสินเชื่ออย่างต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงอีกด้วย
2.4 ECB ใช้มาตรการผ่อนคลายด้านหลักประกัน เพื่อให้มั่นใจว่าภาคธนาคารจะมีหลักประกันเพียงพอที่จะเข้าร่วมการดำเนินงานด้านสภาพคล่องของ Eurosystem และเพิ่มมาตรการขยายวงเงินของการเรียกร้อง เครดิตเพิ่มเติม (Additional Credit Claims – ACC) ไว้เป็นหลักประกัน เพื่อสนับสนุนการระดมทุนของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนให้สามารถรองรับความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น
2.5 ECB มีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกสิ่งที่จำเป็นภายใต้อำนาจหน้าที่เพื่อช่วยให้เขตยูโรผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการปรับเพิ่มปริมาณสินทรัพย์ภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ตามความจำเป็นและระยะเวลาที่ต้องใช้ดำเนินการ รวมถึงการพิจารณามาตรการทางการเงินอื่น ๆ เป็นทางเลือกสำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
[su_spacer]
- การพัฒนาภาคธนาคารในเขตยูโร
[su_spacer]
3.1 ความพยายามที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกส่งผลให้ภาคธนาคารในเขตยูโร มีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งกว่าปี ค.ศ. 2008 โดยมีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับหนี้เสียเมื่อเกิดวิกฤต โดย ECB มีมาตรการกำกับดูแลและมาตรการระดับมหภาคที่ใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของภาคธนาคารในเขตยูโร สำหรับรองรับผลกระทบเชิงลบและให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง
3.2 นอกจากนี้ ECB ยังได้ติดตามสถานการณ์ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอย่างใกล้ชิด โดยมีบางกองทุนประสบปัญหาเงินทุนไหลออก ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันผวนของตลาดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 แต่การดำเนินมาตรการขยายการซื้อสินทรัพย์ของภาคเอกชนให้ครอบคลุมถึงเอกสารทางการค้าที่ไม่ใช่เอกสารการเงินของ ECB สามารถช่วยยุติปัญหาเงินทุนไหลออกจากกองทุนตลาดเงินเหล่านั้นในเขตยูโรได้แล้ว
[su_spacer]
- การตอบสนองต่อสภาวะตระหนก (shock)ทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการระบาดของโรค
[su_spacer]
4.1 นโยบายการคลังและนโยบายสาธารณะของประเทศในยุโรปมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ECB จึงตอบรับต่อความคิดริเริ่มของรัฐบาลและสถาบันต่าง ๆ ในยุโรปที่ดำเนินการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่เพียงพอและให้การสนับสนุนแก่ภาคเอกชนและพนักงานที่ได้รับผลกระทบและยินดีที่จะให้การรับประกันเครดิต
4.2 ECB สนับสนุนมาตรการตอบสนองต่อวิกฤตของ IMF โดยเฉพาะด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ การให้สินเชื่อฉุกเฉินและการสร้างสภาพคล่องระยะสั้นสำหรับประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ECB ยังได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนด้านการบริหารจัดการกับธนาคารกลางของบางประเทศใน EU เพื่อจัดหาสภาพคล่องของเงินยูโรและอยู่ระหว่างการประเมินคำขอเพิ่มเติมสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินยูโรอีกด้วย
[su_spacer]