ปัจจุบัน “ผู้หญิง” ได้ก้าวออกมากมีบทบาทมากขึ้นในสังคม เห็นได้จากการที่ผู้หญิงออกมาทำงาน และเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมในมิติต่าง ๆ มากขึ้น และสัดส่วนของผู้นำระดับประเทศและผู้บริหารในองค์กรใหญ่ ๆ ที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมการดำรงชีวิต ในสังคมเปลี่ยนแปลงไป งานวิจัยของ Harvard Business Review ชี้ว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าประเภทที่อยู่อาศัย รถ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งแพ็คเกจท่องเที่ยวนั้นล้วนเป็นผู้หญิง โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้และความสามารถในการประกอบอาชีพที่ส่งผลให้ผู้หญิงมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงเชื่อว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีอิทธิพลสูงต่อการผลักดันเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำให้บริษัทและนักการตลาดทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจในการทำธุรกิจโดยมุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจในประเทศสเปน
[su_spacer]
“สเปน” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิง โดยเมื่อไม่นานมานี้ The World Economic Forum (WEF) Global Gender Gap Report 2020 ได้จัดให้สเปนอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดจาก 153 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากสเปนได้เป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี รณรงค์ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ส่งผลให้ตำแหน่งในรัฐสภาหรือตำแหน่งระดับบริหารในสเปนมีสัดส่วนที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งยังยกระดับกำลังซื้อของผู้หญิงสเปนที่สูงขึ้น หลายธุรกิจจึงหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น โดยมี 2 ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการเจาะตลาดผู้หญิงในสเปนมากให้ภาคธุรกิจไทยได้รู้จักและศึกษากัน
[su_spacer]
ธุรกิจแรก คือ หลักสูตรอบรมโปรแกรมเมอร์สตรี Adalab ชื่อนี้มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า “Ada” ซึ่งมาจาก Ada Lovelace โปรแกรมเมอร์หญิงคนแรกของโลกชาวอังกฤษ และคำว่า “Lab” หรือห้องปฏิบัติการ ซึ่งผู้ก่อตั้ง Adalab บอกว่าหลักสูตรนี้เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิง ลดอัตราการว่างงาน สร้างโอกาสทางอาชีพให้กับผู้หญิงตกงานหรือมีงานทำแต่ไร้คุณภาพ และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในวงการเทคโนโลยี เนื่องจากผู้หญิงครองสัดส่วนสาขานี้ในสเปนเพียงแค่ร้อยละ 18 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2568 เกือบร้อยละ 50 ของการจ้างงานจะเกี่ยวข้องกับสาขาดังกล่าว ดังนั้น บริษัทจึงต้องเตรียมทักษะอาชีพ ด้านเทคโนโลยีให้กับกลุ่มผู้หญิง เพื่อที่จะได้ไม่ประสบปัญหาการว่างงานและขาดโอกาสทางสังคมในอนาคต โดยนักศึกษาถึงร้อยละ 97 ที่เข้าร่วมนั้น สามารถหางานในสายอาชีพโปรแกรมเมอร์ทำได้ภายใน 46 วัน หลังจากเรียนจบ ทั้งนี้ Adalab ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากหลายฝ่าย และได้รับรางวัลการันตีมากมาย อาทิ รางวัล Women in Mobile เมื่อปี 2561 ในงาน Mobile World Congress ณ นครบาร์เซโลนา และรางวัล CVC Young Innovator Awards เมื่อปี 2560 ในสาขาการพัฒนาสังคม
[su_spacer]
อีกหนึ่งธุรกิจ คือ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวชื่อว่า Wom ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.womviajes.com ที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับคุณผู้หญิงที่ชอบท่องเที่ยวคนเดียว แต่อยากหาเพื่อนใหม่ที่เป็นผู้หญิงไปเที่ยวด้วยกัน จึงเหมาะสำหรับคนที่รักการผจญภัย ท่องโลกกว้างในสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร พร้อมเปิดรับประสบการณ์และมิตรภาพใหม่ ๆ โดยเน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งบริษัท Wom ได้จัดกรุ๊ปทัวร์แบบกลุ่มเล็กเพียง 4 – 10 คนเท่านั้น มีไกด์นำเที่ยวภาษาสเปนและตัวแทนจากบริษัทคอยดูแลตลอด มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวไปในหลายประเทศทั่วโลกตลอดปี ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวสเปนด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดโปรแกรมทัวร์เซอร์ไพรส์อีกด้วย โดยลูกทัวร์จะไม่ทราบจุดหมายปลายทางจนกว่าจะถึงวันเดินทาง ทางบริษัทจะบอกใบ้รายละเอียดเพียงแค่วันเดินทาง สถานที่นัดพบและสิ่งที่ต้องเตรียมไปเท่านั้น ซึ่งการให้บริการที่แตกต่างของ Wom เข้าตาหลายหน่วยงานจนได้รับรางวัล Premio Tourism Women Friendly Fitur 2020 ในงานแสดงสินค้าและมหกรรมการท่องเที่ยว Fitur ณ กรุงมาดริด และรางวัล Lux Travel & Tourism Awards 2020 ในฐานะที่เป็นสุดยอดบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์เชิงวัฒนธรรม
[su_spacer]
ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้หญิงในหลายมิติ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคมด้วย ซึ่งตัวอย่างดี ๆ ของธุรกิจข้างต้นนี้ อาจจุดประกายช่องทางใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่อยู่อันดับ 3 ของเอเชีย ที่มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งผู้บริหารมากที่สุด สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อที่สูงของผู้หญิงไทย นอกจากนี้ จำนวนประชากรวัยทำงานที่มีกำลังซื้อที่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 54 ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 46 ของประชากรทั้งหมด ยังเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย จึงทำให้บทบาทของผู้หญิงในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ควรเร่งสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยจับไลฟ์สไตล์จาก “พลังผู้หญิง” หรือ “She-economy” เนื่องจากผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงนั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการให้ได้มากที่สุด เพราะภายในกลุ่มผู้บริโภคหญิงเองก็ประกอบด้วยหลายกลุ่มย่อยที่มีไลฟ์สไตล์และรสนิยม ที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่เลือกกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับและเลือกวิธีทำการตลาดให้เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังจำเป็นต้องหาอัตลักษณ์และนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
[su_spacer]
ที่มาของภาพ
https://medium.com/adalab/reprograma-tu-vida-en-4-meses-dac756852f77
https://www.forbes.com/sites/anagarciavaldivia/2019/12/20/spain-enters-the-worlds-top-10-for-gender-equality/#677ca1086f52
http://www.thaibiz.net/th/market/Kingdom-of-Spain
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด