การดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลจีนอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในขณะนี้มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมืองใหญ่ในหลายมณฑลได้เริ่มผ่อนปรนและยกเลิกมาตรการควบคุมและป้องกันโรคบางส่วนเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตในระดับที่ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด นอกจากนี้ งานที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นพร้อมกันกับการต่อสู้กับโรค COVID-19 ยังรวมถึงการเร่งกระตุ้นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาและแทบไม่มีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ตั้งแต่ช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
[su_spacer]
รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือการเงินมหภาค เช่น การขยายเวลายื่นชำระภาษี การสนับสนุนให้ธนาคารพิจารณาเงินกู้พิเศษสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจลดค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์แก่เอกชน ตลอดจนการพิจารณามอบเงินอุดหนุนแก่สถานประกอบการที่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตเพื่อสนับสนุนการต่อสู้กับโรค COVID-19 โดยรัฐบาลมณฑลต่าง ๆ ยังได้รับมอบหมายให้ถ่ายทอดมาตรการเหล่านี้ไปใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของจีนในการเร่งออกมาตรการเหล่านี้นอกจากจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการกลับมาประกอบการและดำเนินการผลิตอีกครั้งแล้ว ยังเป็นการเร่งขจัดความเสี่ยงที่ธุรกิจ SMEs จำนวนมากจะเลิกกิจการ นำไปสู่การเลิกจ้างงานขนานใหญ่ ซึ่งจะสร้างผลลูกโซ่ซ้ำเติมต่อรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะกำลังการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอเป็นอย่างมากอยู่แล้วตลอดไตรมาสแรกของปีนี้
[su_spacer]
“เอกชนจีนร่วมมือกันบริหารแรงงานในภาวะวิกฤต”
แม้รัฐบาลจีนจะเร่งออกมาตรการจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการกลับมาประกอบการและดำเนินการผลิตอีกครั้ง แต่ธุรกิจบางส่วนที่ได้เริ่มเปิดทำการในขณะนี้กลับยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในทางกลับกัน ธุรกิจภาคบริการจำนวนมากโดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบ ก็ต้องแบกรับต้นทุนทั้งค่าเช่าและค่าตอบแทนพนักงานทั้งที่ไม่มีรายได้ สถานการณ์เช่นนี้ได้กระตุ้นให้ภาคเอกชนจีนคิดหาทางร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤต และนำไปสู่โมเดลการแบ่งปันพนักงานหรือ “staff sharing” เพื่อช่วยเหลือกันและกัน โดยธุรกิจที่เปิดทำการแล้วแต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจะได้ประโยชน์จากการยืมตัวพนักงานของธุรกิจที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการหรือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบมาช่วยแบ่งเบาภาระงานที่ล้นมือของตน ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ให้ยืมตัวพนักงานก็ได้ประโยชน์จากการลดภาระต้นทุนค่าจ้าง อีกทั้งพนักงานทั้งหมดยังมีรายได้และลดความเสี่ยงของการเลิกกิจการอีกด้วย
[su_spacer]
สำหรับมณฑลยูนนานซึ่งขณะนี้มีการประกาศลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ จากระดับ 1 เป็นระดับ 3 แล้วและเริ่มมีสถานประกอบการหลายแห่งกลับมาเปิดทำการ ก็มีภาคเอกชนได้ร่วมมือกันนำโมเดลการแบ่งปันพนักงานมาใช้เพื่อบริหารจัดการแรงงานในภาวะวิกฤตเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตและภาคบริการที่เปิดทำการแล้วกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ยังไม่สามารถเปิดทำการได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ในภาพรวม เมื่อพิจารณาโดยใช้ลักษณะการทำข้อตกลงจ้างงานเป็นเกณฑ์ โมเดลการแบ่งปันแรงงานระหว่างภาคเอกชนจีนอาจจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
[su_spacer]
1. สถานประกอบการที่ต้องการพนักงานทำความตกลงโดยตรงกับลูกจ้างที่ต้องการงานชั่วคราวในช่วงที่สถานประกอบการของตนยังไม่สามารถกลับมาเปิดทำการได้ โดยสัญญาลักษณะนี้มักเป็นการจ้างงานแบบไม่ประจำ (part-time job) ในช่วงเวลาที่มีการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
[su_spacer]
2. สถานประกอบการที่ต้องการพนักงานทำความตกลงกับสถานประกอบการอื่น โดยสัญญาลักษณะนี้มักเป็นการยืมตัวพนักงานของสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดทำการได้มาช่วยสนับสนุนงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมาก ซึ่งผู้ว่าจ้างทั้งสองฝ่ายอาจร่วมสมทบค่าตอบแทนในสัดส่วนที่ตกลงแก่ผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการอีกแห่งยังคงมีสถานะเป็นพนักงานสังกัดผู้ว่าจ้างเดิม
[su_spacer]
3. สถานประกอบการที่ต้องการพนักงานทำความตกลงผ่านตัวกลาง โดยรูปแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เป็นข้อเสนอที่หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาหากโมเดลการแบ่งปันพนักงานยังเป็นที่สนใจภายหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย โดยตัวกลาง (agent) เช่น ภาครัฐ หรือนายหน้าจัดหางาน อาจเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสรรหาและจับคู่สถานประกอบการที่มีความต้องการในด้านนี้ รวมทั้งบริหารจัดการความร่วมมือลักษณะดังกล่าวให้มีมาตรฐานและคุณภาพเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในภาพรวม
[su_spacer]
“ธุรกิจปรับตัวได้ผ่านความร่วมมือแบบ win-win”
โมเดลความร่วมมือในการแบ่งปันพนักงานระหว่างภาคเอกชนจีนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมสถานประกอบการที่กลับมาเปิดทำการและดำเนินการผลิตอีกครั้งให้สามารถดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการแบ่งเบาภาระด้านต้นทุนให้แก่สถานประกอบการส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่สามารถกลับมาเปิดทำการได้ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างรายได้ให้แก่แรงงานซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมความสามารถในการบริโภคในระบบเศรษฐกิจจีน โมเดลความร่วมมือข้างต้นจึงนับเป็นกรณีศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคเอกชนในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการหันมาร่วมมือกัน ที่สำคัญ ความร่วมมือในภาวะวิกฤตยังสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดเพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในภาพรวมได้อีกด้วย
[su_spacer]
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
https://thaibizchina.com/article/%e0%b9%82%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99/
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง