เทศกาลตรุษจีนนับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ครึกครื้นที่สุดในทุกปีของชาวจีน อย่างไรก็ดี ตรุษจีนในปี 2563 นี้ กลับมีบรรยากาศแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อวาระสำคัญระดับชาติของจีนเปลี่ยนจากการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมเป็นการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือที่ขณะนี้เป็นที่รู้จักในนามโรค “โควิด-19” (COVID-19) ตามชื่อเรียกอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโรค (World Health Organization: WHO)
[su_spacer]
ในห้วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ขั้นวิกฤตจากการพบผู้ป่วยจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตรการจำนวนมากเพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติม รวมทั้งประยุกต์ใช้เครื่องมือในระบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิบัติงานดังกล่าว ขณะเดียวกัน ประชาชนจีนก็เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากข้อจำกัดที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกบ้านได้ โดยหันมาใช้ชีวิตภายในบ้านเป็นหลักและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์หลากหลายด้านเพื่อสนับสนุนรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนไป อาทิ การสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้าออนไลน์ การออกกำลังกายตามคำแนะนำของแอปพลิเคชัน
[su_spacer]
เหล่านี้ นับเป็นโอกาสส่งเสริมการเติบโตของภาคเศรษฐกิจดิจิทัลจีนทั้งในแง่การยกระดับการใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อการอภิบาลสังคม (social governing) ในภาครัฐ รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านแพลตฟอร์มในระบบดิจิทัลในหมู่ประชาชน ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นนับเป็นแนวโน้มที่นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างจับตามองในขณะนี้ โดยมีบางแห่งคาดการณ์ถึงอนาคตที่สดใสของเศรษฐกิจดิจิทัลจีนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคครั้งนี้คลี่คลายแล้วด้วย
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาศึกษาบทเรียนการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ของรัฐบาลจีน ก็อาจสรุปได้ว่า เครื่องมือทางดิจิทัลได้ช่วยสร้าง “ความยืดหยุ่น” (resilience) แก่สังคมและระบบเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากโรคระบาดที่ยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มผลกระทบอย่างรอบด้านได้ในขณะนี้ ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอกรณีศึกษาของมณฑลกุ้ยโจว ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องบิ๊กดาต้าระดับประเทศแห่งแรกของจีน (National Big Data Pilot Zone)และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนจากการประยุกต์ใช้ระบบบิ๊กดาต้า
[su_spacer]
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มณฑลกุ้ยโจวได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายประเภท เช่น บิ๊กดาต้า อินเทอร์เน็ต และคลาวด์คอมพิวติ้ง มาประยุกต์ใช้สนับสนุนการดำเนินการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในมณฑล โดยสามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้
[su_spacer]
การตรวจสอบสถานการณ์การระบาดของโรค โดยในแต่ละวันโรงพยาบาลระดับอำเภอ ระดับเมืองและระดับมณฑลในกุ้ยโจวจะต้องรายงานสถานการณ์ผู้ป่วย ได้แก่ จำนวนผู้ป่วย จำนวนผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ จำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว และจำนวนผู้เสียชีวิต ต่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou Center for Disease Control and Prevention) ผ่านระบบตรวจสอบข้อมูลขนาดใหญ่ของศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้อย่างเป็นปัจจุบัน (real-time monitoring)
[su_spacer]
ในเรื่องนี้ นายอู๋ จวิน หัวหน้าแผนกเครือข่ายการจัดการเหตุฉุกเฉินของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลกุ้ยโจวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีการเชื่อมต่อระบบข้อมูลของมณฑลกุ้ยโจวกับของระดับประเทศส่งผลให้ข้อมูลมีความสอดคล้องกัน โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ป่วยด้านเพศ อายุ และอาชีพ ข้อมูลกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ข้อมูลพื้นที่การระบาด รวมถึงข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งระบบตรวจสอบข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าวสามารถสรุปข้อมูลในแต่ละกรณีได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรค ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการรับมือที่สอดคล้องต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น มณฑลกุ้ยโจวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อมาตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2563 แล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลกุ้ยโจวจึงใช้ระบบบิ๊กดาต้าวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่เชื้อของผู้ป่วยรายนี้ และพิจารณาวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
[su_spacer]
ในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค มณฑลกุ้ยโจวยังใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม “Guizhou-Cloud Big Data” ให้หน่วยงานต่าง ๆ ในมณฑลกว่า 40 แห่ง เช่น สำนักงานรัฐบาล กรมตำรวจ และกรมกิจการพลเรือน แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยจนถึงขณะนี้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันรวม 50,863 ครั้ง คิดเป็นปริมาณการแลกเปลี่ยน 8.535 GB
[su_spacer]
การตรวจสอบและดูแลสุขภาพของครูและนักเรียน ภายหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานศึกษาธิการนครกุ้ยหยางได้ประยุกต์ใช้ระบบบิ๊กดาต้าและอินเทอร์เน็ตในการตรวจดูแลสุขภาพของครูและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยทุก ๆ วัน ครูประจำชั้นจะสอบถามข้อมูลสุขภาพของนักเรียนจากผู้ปกครองผ่านกลุ่มแชทออนไลน์ จากนั้น จึงอัพโหลดข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “ระบบการกำกับดูแลการศึกษานครกุ้ยหยาง” โดยหากมีกรณีนักเรียนไม่สบาย ระบบจะให้คำแนะนำและขั้นตอนในการดูแลนักเรียนที่ไม่สบายภายในระยะเวลา 10 นาที
[su_spacer]
แอปพลิเคชันดังกล่าวยังช่วยประมวลข้อมูลที่สำคัญอื่น ๆ เกี่ยวกับนักเรียนและครูนับล้านคนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ประวัติการเดินทางออกนอกพื้นที่ การรับคนนอกเข้ามาในครอบครัว รวมถึงที่อยู่ปัจจุบันของครูและนักเรียน ทั้งนี้ นางหลี เหว่ย หัวหน้าฝ่ายกีฬา สาธารณสุขและศิลปะของสำนักงานศึกษาธิการนครกุ้ยหยางให้ข้อมูลว่า การดำเนินการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการกลั่นกรองครูและนักเรียนในกลุ่มที่ต้องการได้รับการดูแลเป็นพิเศษได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถสื่อสารกับครูและนักเรียนเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวระหว่างการระบาดของโรคตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
[su_spacer]
ความปลอดภัยบนรถโดยสารสาธารณะ นครกุ้ยหยางได้กำหนดให้ผู้โดยสารรถเมล์ทุกคนต้องสแกนลงทะเบียนผ่านมือถือก่อนขึ้นรถ ซึ่งในเรื่องนี้ นายติง หย่ง หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการการขนส่งนครกุ้ยหยางเน้นย้ำว่า ระบบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อมีกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งจะช่วยเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว
[su_spacer]
การควบคุมการเข้าออกแหล่งชุมชน นครกุ้ยหยางยังกำหนดมาตการให้การเข้าออกหมู่บ้านในนครกุ้ยหยางจะต้องผ่านการสแกนระบบ QR code เพื่อตรวจสอบแหล่งข้อมูลผู้อยู่อาศัยจากฐานข้อมูลบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกชุมชนเข้าไปในอาคารที่พักอาศัยในเขตชุมชนนั้น ๆ ได้
[su_spacer]
การส่งเสริมระบบออนไลน์ มณฑลกุ้ยโจวยังส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมหลากหลายด้านผ่านระบบออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค อาทิ
[su_spacer]
– การศึกษาออนไลน์ กรมการศึกษามณฑลกุ้ยโจวร่วมมือกับสำนักงานกิจการวิทยุและโทรทัศน์มณฑลกุ้ยโจว (Guizhou Radio and Television Administration) จัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่รระบาดของโรคที่ทำให้นักเรียนต้องหยุดเรียน โดยอาศัยอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายการออกอากาศของสำนักงานกิจการวิทยุและโทรทัศน์ฯ เชื่อมต่อไปยังโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วทั้งมณฑล เพื่อให้นักเรียนได้เรียนหนังสือได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ส่งผลให้การเรียนการสอนเริ่มต้นได้ตามกำหนดเดิม
– ประกันสังคมออนไลน์ โดยสำนักงานทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมนครกุ้ยหยางได้ให้บริการออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงผ่านมือถือและการนัดหมายล่วงหน้า “เพื่อหลีกเลี่ยงการพบหน้า” โดยในช่วงวันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานฯ ให้บริการธุรกรรมออนไลน์ไปแล้วถึง 147 รายการ
– การแจ้งเตือนประชาชนผ่านมือถือ ในแต่ละวันรัฐบาลนครกุ้ยหยางจะส่งข้อความแจ้งเตือนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคไปยังมือถือของประชาชน จนถึงปัจจุบัน สำนักงานบิ๊กดาต้านครกุ้ยหยางได้ประสานงานกับบริษัทที่ดำเนินการด้านการสื่อสารทั้งหมดเพื่อส่งข้อความให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานการณ์การระบาดของโรคกว่า 60.18 ล้านข้อความ
– ระบบแพทย์ทางไกล ตามโครงการการจับคู่ช่วยเหลือทางการแพทย์ “หนึ่งเมือง หนึ่งมณฑล” ของรัฐบาลจีน ทีมแพทย์จากมณฑลกุ้ยโจวจำนวน 297 คนได้เข้าไปช่วยรักษาผู้ป่วยในเมืองเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย โดยสามารถใช้ระบบแพทย์ทางไกลปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนการรักษากับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากมณฑลกุ้ยโจวได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ บริษัท Longmaster ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ทางไกลและเป็นบริษัทเอกชนยอดเยี่ยม 100 อันดับแรกของมณฑลกุ้ยโจวประจำปี 2562 ได้อาศัยโรงพยาบาลแพทย์ทางไกลและเว็บไซต์เพื่อสุขภาพของบริษัท รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยผิงอันให้บริการการปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบวิดีโอและผ่านรูปภาพตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
[su_spacer]
โครงการระบบคลาวด์นำร่อง (cloud service) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจวได้เปิดตัวโครงการระบบคลาวด์นำร่อง 197 ระบบ โดยในจำนวนดังกล่าว จะเปิดให้ทดลองใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายระยะสั้น 152 ระบบ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานและบริษัทในมณฑลกุ้ยโจวในการกลับมาดำเนินงานและเริ่มผลิตสินค้าอีกครั้ง หลังการหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนและการขยายวันหยุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการระบบคลาวน์กว่า 20 บริษัท เช่น Tencent JD Huawei China Unicom China Telecom China Mobile และ Casicloud
[su_spacer]
ผลที่สำคัญของโครงการนี้ คือ การตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนในการกลับมาดำเนินกิจการระหว่างการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการทำงานทางไกล (remote working) การวิจัยและการผลิต การบริหารและการจัดการ ตัวอย่างเช่น บริษัทสนามบินหลงต้งเป่าของนครกุ้ยหยางได้อาศัยระบบการติดต่อสื่อสารของศูนย์นวัตกรรม Guizhou Tencent Haina เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่มีข้อกำหนดให้หลีกเลี่ยงการพบปะกัน เช่น การประชุมทางไกล การอบรมทางไกล และการเสนองานทางไกล
[su_spacer]
เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ความสามารถทางดิจิทัล (digital capability) ของมณฑลกุ้ยโจว เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ “ความยืดหยุ่น” ของมณฑลในการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้ กล่าวคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแรงของมณฑลมีส่วนช่วยซึมซับแรงกดดันที่มาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมในระบบสังคมและเศรษฐกิจในขณะนี้ถูกขัดขวางหรือดำเนินการอย่างไม่เป็นปกติ โดยในสภาวะที่รัฐบาลจีนกำลังให้ความสำคัญการเร่งควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค พร้อมกันกับผลักดันให้ทุกภาคส่วนกลับมาขับเคลื่อนระบบสังคมและเศรษฐกิจให้เป็นปกติมากที่สุด เครื่องมือและกลไกในระบบดิจิทัลย่อมช่วยอำนวยความสะดวกความคาดหวังดังกล่าวไม่มากก็น้อย
[su_spacer]
การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ทำให้หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างทางดิจิทัล ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรับมือและจัดการกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลจีนนั้น แม้นักวิเคราะห์จำนวนมากจะตั้งความหวังถึงแนวโน้มการเติบโตภายหลังสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลาย แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำไปวิเคราะห์ประกอบบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าที่แท้จริงซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถสร้างขึ้นในระดับเศรษฐกิจมหภาค การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีลักษณะชั่วคราวหรือไม่ ตลอดจนข้อกังวลและความสมดุลระหว่างอำนาจรัฐในการควบคุมผ่านระบบดิจิทัลกับสิทธิของประชาชน
[su_spacer]
ที่มา
https://thaibizchina.com/article/%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%a9%e0%b8%90%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b8%a5%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%aa/
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง