ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญา
สัญญาระบุเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองระบบธนาคารในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ
โดยผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (เงินกีบและเงินหยวน) ในการชําระธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่ผู้ค้า ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศที่ผันผวน และลดค่าใช้จ่ายในการทําธุรกรรมลง
[su_spacer]
ประโยชน์แก่ฝ่ายลาว
จีนเป็นคู่ค้าอันดับสองของ สปป.ลาว มูลค่าการค้ามากกว่าการค้าระหว่าง สปป.ลาว-สหรัฐฯ 56 เท่า (สถิติ ครึ่งปีแรก 2562) และโดยที่ค่าเงินของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันและมีการค้าขายกันในปริมาณมากมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันเพราะวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการค้าที่สอดคล้องกัน ดังนั้นการค้าขายโดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นหยวน-กีบ จึงมีประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการสาวจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินตราแก่ผู้ประกอบการลาวด้วย
[su_spacer]
สปป. ลาวกําลังเผชิญกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกีบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินกีบกับเงินบาทผันผวนอย่างมาก โดยเงินกีบอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางแห่ง สปป. ลาว จึงพยายามอย่างมากที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยน โดยตั้งเป้ารักษาระดับความผันผวนของค่าเงินกีบไว้ในช่วงร้อยละ 5 สปป. ลาว น่าจะได้ประโยชน์จากความตกลง ข้างต้นจากสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น
[su_spacer]
ความตกลงดังกล่าวน่าจะช่วยลดความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง สปป. ลาวจําเป็นต้องใช้เพื่อนําเข้าสินค้า
[su_spacer]
ประโยชน์แก่ฝ่ายจีน
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับหนึ่งใน สปป. ลาว สัญญาความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มบทบาทเงินหยวนในตลาดการเงินลาวและช่วยอํานวยความสะดวก ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนเงินตราแก่ผู้ประกอบการจีนในการนําสินค้ามาขายในลาว โดยผู้ประกอบการจีนสามารถนําเงินหยวนมาชําระค่าบริการใน สปป. ลาว ได้โดยตรงไม่จําเป็นต้องแลกเป็นกีบ ดอลลาร์สหรัฐ หรือบาทก่อน
[su_spacer]
ความตกลงดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของจีนในการทําให้เงินหยวนเป็นสากล (RMB internationalization) แทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะเงินสกุลหลักของโลกโดยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ทําความตกลง Curency Swap กับกว่า 30 ประเทศ เชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์จีนกับตลาดหลักทรัพย์หลัก ๆ ของโลก ลงทุนตาม โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจํานวนมาก และตั้งแต่ปี 2558 ได้สร้างระบบ Cross-Border Inter-Bank Payments System (CIPS) ขึ้นมาแข่งกับระบบ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ถึงแม้เงินหยวนจะยังคงมีปริมาณน้อยในการกําหนดราคากลางชําระค่าสินค้าระหว่างประเทศ ที่ประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ร้อยละ 40 แต่นักวิเคราะห์มองว่า เงินหยวนมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคตเนื่องจากหลาย ๆ ประเทศ ในโลกต้องการลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐที่สหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธด้านการต่างประเทศในรูปแบบของมาตรการ sanctions
[su_spacer]
ผลกระทบกับไทย
ในช่วงปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเป็นอย่างมากทําให้ผู้บริโภคลาวหันไปใช้สินค้าจีนมากขึ้น การอํานวยความสะดวกจากความตกลงดังกล่าวน่าจะยิ่งทําให้สินค้าจีนมีราคาถูกลง ทําให้มีศักยภาพ ในการแข่งขันในตลาดลาวมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ จีนพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเละใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยทําให้ ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถขายสินค้าในราคาถูก และสินค้าบางชนิดมีคุณภาพเทียบเท่าสินค้าไทย การค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนในลาวมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ การชําระสินค้าและค่าบริการผ่าน WeChat Pay และ AliPay ช่วยให้คนลาวเข้าถึงสินค้าจีนมากขึ้น จึงอาจทําให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในสินค้าบางชนิด อย่างไรก็ตาม สินค้าเวชภัณฑ์สําอางและสุขภาพของไทยยังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคของ สปป. ลาว ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าจีน-ลาวมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การค้าไทย-ลาวมูลค่าลดลงร้อยละ 8.04 (สถิติเดือน ม.ค. – พ.ย. 2562)
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์