ภาวะ “สงครามการค้า” ที่สหรัฐฯ เริ่มเปิดฉากกับจีนตั้งแต่เมื่อกลางปี 2562 ได้สร้างภูมิทัศน์ใหม่ของการค้าระหว่างประเทศ การออกมาตรการตอบโต้กันไปมาของทั้งสองฝ่าย อาทิ การตั้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในหมวดต่าง ๆ ระหว่างกัน หรือการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนให้อ่อนค่า ล้วนส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกไม่เฉพาะแต่ในทั้งสองประเทศคู่ขัดแย้ง แต่ขณะเดียวกันยังได้สร้างคลื่นกระทบต่อทุกประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การค้าโลกที่เกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน และแม้จีนกับสหรัฐฯ จะพยายามเจรจาหาทางออกจากความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองและสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความท้าทายจำนวนมากในปัจจุบัน ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่สภาพแวดล้อมและบริบทของการค้าระหว่างประเทศที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
[su_spacer]
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้หันมาส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดงานมหกรรมการนำเข้านานาชาติ (China International Import Expo: CIIE) ที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้ความสำคัญและเดินทางไปร่วมงานด้วยตนเองทั้งสองครั้ง อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายดังกล่าวดำเนินไปเพื่อตอบสนองสถานะของจีนที่กำลังเปลี่ยนไปจากการเป็น “ผู้ส่งออก” รายใหญ่ รวมถึงรูปแบบการบริโภคของประชาชนจีนที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ได้รับการ “ยกระดับ” ส่งผลต่อความต้องการที่หลากหลายพร้อมกับการให้ความสำคัญกับคุณภาพของสิ่งที่บริโภคมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ยังอาจพิจารณาได้ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ของรัฐบาลเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเงินภายในระบบเศรษฐกิจ ลดการไหลออกของเงินไปยังต่างประเทศ
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี ธุรกิจการนำเข้าในประเทศจีนขณะนี้ มีปัจจัยท้าทายสำคัญจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเริ่มต้นของสงครามการค้า กล่าวคือ จากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นประมาณ 6.6 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ได้อ่อนตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่อัตราประมาณ 6.9 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีบางช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนอ่อนตัวสูงสุดถึงประมาณ 7.1 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นและยากต่อการคาดการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
[su_spacer]
สำหรับการนำเข้าสินค้าไทยมายังจีนนั้น แม้ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น อาหาร เครื่องสำอาง จะเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในตลาดจีนค่อนข้างดี แต่สภาวะที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากแรงกดดันของสงครามการค้า ประกอบกับสภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน จากแต่เดิมที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อเงินบาทคิดเป็น 1 หยวนต่อประมาณ 5 บาท จนถึงขณะนี้ที่อัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็น 1 หยวนต่อประมาณ 4.2-4.3 บาทเท่านั้น จึงย่อมส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าไทยมาขายในประเทศจีนเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เกี่ยวกับสภาวการณ์ดังกล่าวและแนวโน้มของธุรกิจนำเข้าสินค้าไทยในจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครคุนหมิงได้สัมภาษณ์ความเห็นของผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ในนครคุนหมิง ซึ่งสามารถประมวลสรุป ได้ดังนี้
[su_spacer]
[su_spacer]
สำหรับบริษัทยูนนานคุนไท่กว่างต้าเทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารแปรรูปและเครื่องปรุงอาหารไทยรายใหญ่ที่สุดในมณฑลยูนนาน เจ้าของสินค้าแบรนด์ “กินรี” เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าไทย ที่บริษัทนำเข้าเองมีต้นทุนสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 รวมทั้งสินค้าไทยที่ซื้อต่อมาจากผู้นำเข้าจีนก็มีต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 10-15 และเห็นว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่เลือกที่จะแบกรับต้นทุนบางส่วนไว้ ไม่ผลักภาระให้ลูกค้าทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่าลูกค้าอาจตัดสินใจไม่ซื้อสินค้า ในส่วนของบริษัทฯ นั้นไม่สามารถขึ้นราคาทั้งการขายส่งและขายปลีกที่แปรผันตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด โดยบริษัทฯ เลือกปรับขึ้นราคาสินค้าเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะเห็นว่า ราคามีผลทางจิตวิทยาต่อลูกค้าชาวจีนเป็นอย่างมาก แม้ว่าขณะนี้สินค้าจีนหลายชนิดจะปรับราคาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้แต่ผู้บริโภคกลุ่มที่ยังคงมีกำลังซื้อ ก็อาจลดความถี่ในการซื้อสินค้าหรือเลือกซื้อในปริมาณที่ลดลง
[su_spacer]
ขณะที่บริษัทคุนหมิงจตุจักรอิมพอร์ตเอ็กพอร์ตเทรดดิ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายอาหารแปรรูปนำเข้าจากไทยและต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า สินค้าอาหารแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งบริษัทฯ รับมาจากผู้นำเข้าจีนแทบทุกรายการมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10-20 แม้ส่วนหนึ่งผู้นำเข้าเหล่านั้นได้แบกรับต้นทุนบางส่วนไว้เองด้วย ขณะนี้บริษัทฯ ได้ปรับเพิ่มราคาการขายส่งแต่ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกได้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ สามารถจดจำราคาสินค้าได้ ทั้งนี้ ในหมู่สินค้าที่บริษัทฯ จำหน่าย สินค้าไทยและสินค้าเวียดนามมีการปรับราคาเพิ่มมากที่สุด ขณะที่สินค้ามาเลเซียและสินค้าเมียนมาปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี สินค้าสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงขึ้นประมาณร้อยละ 50-60 จนบริษัทฯ ตัดสินใจไม่รับมาจำหน่าย
[su_spacer]
นอกจากปัจจัยด้านราคาแล้ว บริษัทคุนหมิงจตุจักรฯ เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่ สภาพคล่องของผู้บริโภคที่ลดลง ทั้งโดยจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และจากการที่ผู้บริโภคชาวคุนหมิงส่วนใหญ่ในขณะนี้นำเงินออมไปลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านจากการขยายระบบขนส่งสาธารณะทางรางที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
[su_spacer]
ในส่วนบริษัทมูนไลท์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าสินค้าไทยระดับพรีเมียม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ ร่วมมือกับหุ้นส่วนชาวจีนซึ่งเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศจีนด้านอาหารแปรรูปนำเข้า โดยได้จัดตั้งบริษัทลูกร่วมกันที่นครคุนหมิงเพื่อบุกตลาดอีคอมเมิร์ซจีนด้านอาหารแปรรูปนำเข้าและสินค้าอื่นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ สำหรับสภาวะการนำเข้าในตลาดจีนขณะนี้ เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อต้นทุนสินค้าเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กลับไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสินค้าหรือปรับได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา ไม่ยอมรับราคาที่ปรับขึ้น รวมทั้งตลาดออนไลน์ของจีนก็มีการแข่งขันสูงด้านราคา สำหรับสินค้าอาหารนั้นยังเป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ขณะเดียวกัน เห็นว่า ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ มีความต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ แม้สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจะทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดทั่วไป (mass) แต่ตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ยังคงมีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อดี
[su_spacer]
บริษัทบีทาเก้น (ยูนนาน) เทรดดิ้ง จำกัด บริษัทลูกของบีทาเก้นประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนมเปรี้ยวตราบีทาเก้นในจีน วิเคราะห์สถานการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อต้นทุนสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อาจมีผลกระทบต่อแต่ละบริษัทในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ โดยราคาสินค้ามีผลต่อยอดขายและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือห้างระดับกลางจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคา ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในห้างระดับพรีเมียมจะสนใจคุณภาพและแบรนด์ของสินค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ สภาพคล่องของผู้บริโภคยังอาจมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้ามากกว่าราคาสินค้า เพราะหากผู้บริโภคมีรายได้ลดลง ก็จะเลือกสินค้าราคาถูกลงหรือคุณภาพลดลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน แต่สินค้ากลุ่มอาหารหรือกลุ่มที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
[su_spacer]
จากทรรศนะข้างต้น ในภาพรวมจึงอาจยืนยันได้ว่า การอ่อนตัวของค่าเงินหยวนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าไทยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ปัจจัยท้าทายสำหรับสินค้าไทยในตลาดจีนขณะนี้ยังรวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคชาวจีน อันเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งส่งผลต่อยอดขายสินค้าไทยที่ลดลง
[su_spacer]
ดังนี้แล้ว สินค้าไทยต้องปรับตัวและสรรหาช่องทางตลาดใหม่ที่สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดกลุ่มเฉพาะ (niche market) ซึ่งยังมีช่องว่างและโอกาสการเติบโต เนื่องจากสอดคล้องกับลักษณะของผู้บริโภคชาวจีนที่มุ่งเน้นคุณภาพและให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ด้านการบริโภคมากขึ้น ดังนั้น สินค้าไทยที่ต้องการบุกตลาดจีนขณะนี้จึงจำเป็นต้องหาจุดขายหรือเพิ่มจุดขายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น รสชาติ บรรจุภัณฑ์ คุณภาพ การเป็นสินค้าวิถีอินทรีย์ (organic) เพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคฐานะปานกลางถึงสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีสภาพคล่องดีและมีกำลังซื้อสูง เหล่านี้ เป็นความท้าทายสำคัญของสินค้าไทยในตลาดจีนที่ขณะนี้จำเป็นต้อง ใส่ใจทั้งการตลาด (marketing) การสร้างแบรนด์ (branding) รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่าง “ภาพลักษณ์แบรนด์” (brand image) เพื่อให้สามารถขยายฐานผู้บริโภคและหาโอกาสสร้างกำไรในสถานการณ์การค้าปัจจุบันที่กำลังพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง