เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาวได้จัดการประชุมร่างดำรัสว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ของ สปป. ลาวที่โรงแรม Landmark Mekong Riverside นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมีนายบุนมี มะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและสรุปเนื้อหาสำคัญจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดทำร่างดำรัสฯ ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐบาลในช่วงต้นปี 2563 ต่อไป
[su_spacer]
นายบุนมีฯ กล่าวว่า การใช้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รูปแบบการค้าก็เปลี่ยนมาเป็นการค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีศักยภาพที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากธุรกิจรูปแบบนี้ คือ SMEs และ MSMEs เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ ลดอุปสรรค สะดวกรวดเร็ว และสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต
[su_spacer]
ดำรัสว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักการและมาตรการในการคุ้มครอง ติดตาม และตรวจสอบกิจการพาณิชย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ใน สปป. ลาว เพื่อพัฒนาให้การค้าในรูปแบบดังกล่าวมีความทันสมัย และเชื่อถือได้ เน้นการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ผู้บริโภคและผู้ค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
[su_spacer]
ทั้งนี้ ในปี 2561 สปป. ลาวมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด 3.03 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 2.78 ล้านหมายเลข ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2.96 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.02 เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีจำนวน 2.74 ล้านหมายเลข ถึงแม้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน สปป. ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนา E-commerce ใน สปป. ลาวยังมีคงข้อจำกัด อาทิ (1) ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและมีราคาสูง (2) โครงสร้างพื้นฐานของ สปป. ลาวยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล (3) สปป. ลาวยังไม่มีกฎหมาย/กฎระเบียบที่ให้การคุ้มครองธุรกิจ E-commerce ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดอัตราภาษีธุรกิจดังกล่าว (4) สปป. ลาวยังคงต้องพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเด่นเพื่อนำมาเป็นจุดขาย
[su_spacer]