ภายหลังที่เขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องในกลุ่มที่ 2 เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นแห่งแรกๆ ของจีนตะวันตก เขตฯ ได้รับการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับเมืองเพื่อให้มีความน่าอยู่มากขึ้น รวมถึงตั้งเป้าพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของเมือง การเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งการพัฒนาเมืองให้มีความอัจฉริยะนั้น ในระยะแรกเริ่มจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ธุรกิจ รวมถึงประชาชน คล้ายคลึงกับโมเดลเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศที่เปิดโอกาสให้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ
[su_spacer]
“นครหยินชวน” เมืองเอกของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยและเมืองอัจฉริยะนำร่องของประเทศ จึงได้เริ่มนำเทคโนโลยี Big Data มาแก้ปัญหาหลักในพื้นที่ อาทิ การนำ Big Data มาผสานกับเทคโนโลยีและการวางผังเมือง เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วยประสิทธิภาพการบริการที่สูงสุด การนำร่องยกระดับบริการประชาชนใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การยกระดับการให้บริการของหน่วยงานท้องถิ่น (2) การศึกษา และ (3) การแพทย์และสาธารณสุข ต่อมาจึงเพิ่มรูปแบบการให้บริการมากขึ้น อาทิ (1) การยื่นเอกสารราชการผ่านระบบออนไลน์ ที่สามารถร่นระยะเวลาจากเดิมได้มากกว่าร้อยละ 80 (2) การจราจรอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบเส้นทางและจัดเก็บข้อมูลจราจร (3) ชุมชนอัจฉริยะ ได้แก่ การติดตั้งระบบจดจำใบหน้า ถังขยะที่จดจำประเภทขยะและระบบน้ำดื่มมาตรฐาน รวมไปถึงห้องจัดเก็บความเย็นพิเศษ (Special Cold Storage Room) สำหรับประชาชนที่สั่งซื้อสินค้าสดผักและผลไม้ โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกให้ไปส่งได้ตามจุดต่างๆ ทั่วนครหยินชวน (4) การรักษาความปลอดภัยและการชำระเงินผ่านระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) โดยมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด 2,700 จุดทั่วนครหยินชวน และพัฒนาระบบการชำระเงินด้วยใบหน้าสำหรับบริการขนส่งสาธารณะ (5) ระบบ Cloud Computing จัดตั้งฐานการให้บริการข้อมูล 60 จุด ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนจากวิสาหกิจได้ 860 แห่ง และ (6) การจัดเก็บภาษี โดยการบูรณาการกลุ่มผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องในด้านการเงิน ภาษี (ประเทศ) ภาษี (ท้องถิ่น) การใช้ข้อมูลประกอบการประเมินความเสี่ยง การปรับปรุงมาตรการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐาน การจัดการความปลอดภัยของข้อมูล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐได้อย่างต่อเนื่อง
[su_spacer]
สำหรับการนำ Big Data แก้ปัญหาสาธารณสุขท้องถิ่น ภายหลังเมื่อเดือน เม.ย. 2561 รัฐบาลจีนไฟเขียวให้สถาบันการแพทย์สามารถนำอินเทอร์เน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ โดยอนุญาตให้สถานพยาบาลสามารถวินิจฉัยโรคทั่วไปรวมไปถึงติดตามอาการผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยระบบออนไลน์ จีนได้เข้าสู่ยุคของการแพทย์ออนไลน์ซึ่งสามารถลดความแออัดของสถานพยาบาลและลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันประชากรจีนมีความต้องการทางการแพทย์ที่ดีและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากจีนเข้าสู่สถานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle-income country) ส่งผลให้ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้นตามไปด้วย
[su_spacer]
นอกจากการอนุมัติข้างต้นแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2562 รัฐบาลจีนยังได้ออกพิมพ์เขียวสุขภาพ 2030 (Healthy China 2030) ตั้งเป้าเสริมสร้างระบบการแพทย์จีน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ผ่านแคมเปญสุขภาพ 15 โครงการ อาทิ เพิ่มการส่งเสริมปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพประชาชน (การส่งเสริมความรู้ทางสุขภาพ การควบคุมอาหาร ความรู้ในการออกกำลังกายทั่วไป อันตรายจากบุหรี่ และสุขภาพจิต) หรือการป้องกันและควบคุมโรคร้ายแรง มุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางจากการรักษาไปสู่การป้องกัน (Treatment to Prevention) นอกจากการนำ Big Data มาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนแล้ว รัฐบาลนครหยินชวนยังได้ร่วมกับ China Electronics Corporation (CEC) จัดการประชุม Global Smart City Summit เพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็น “เขตสาธิตการดูแลสุขภาพ” (Medical Health Demonstration Zone) โดยเฉพาะในด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการแพทย์ อาทิ การนำหุ่นยนต์มาให้บริการทางการแพทย์ เช่น การตรวจหาพันธุกรรม (Gene Detection) และการให้คำปรึกษาและแนะแนวการรักษาทางไกล รวมถึงเป้าหมายในการมุ่งสร้างระบบการแพทย์อัจฉริยะผ่าน “เขตสาธิตการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ” (Medical Health Demonstration Zone) ซึ่งรัฐบาลนครหยินชวนได้ก่อตั้ง (1) ศูนย์ช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน นครหยินชวน (Yinchuan Research Emergency Center) (2) ศูนย์อำนวยการเมืองอัจฉริยะ www.yc12345.gov.cn (Admission Center of the Smart City) และการให้บริการนัดหมายแพทย์และให้คำปรึกษา วินิจฉัยอาการเบื้องต้นผ่านเว็บบอร์ด ภายใต้แนวคิด “Internet + Medical Health” บนแพลตฟอร์ม www.haodf.com ซึ่งรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากที่สุดของจีน มีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจากนครหยินชวนให้บริการในแพลตฟอร์มดังกล่าวมากถึง 20,583 คน จาก 29 สถานพยาบาลท้องถิ่น ให้บริการผู้ป่วยแล้วกว่า 7 ล้านคน
[su_spacer]
สืบเนื่องจากเป้าหมายข้างต้น นครหยินชวน ตั้งเป้าการพัฒนา “โทรเวชกรรม” (Telemedicine) มาใช้สำหรับการวินิจฉัยและแนะแนวการรักษาให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา หรือในกรณีบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลระดับตำบลหรือหมู่บ้านไม่ชำนาญหรือต้องการความช่วยเหลือ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยสามารถโต้ตอบกันได้แบบ real time
[su_spacer]
นอกจากการใช้โทรเวชกรรมช่วยเหลือในประเทศแล้วปัจจุบัน รพ. ประชาชนนครหยินชวนแห่งที่ 1 (First People’s Hospital of Yinchuan) ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในการแนะแนวการรักษาและผ่าตัดมะเร็งไทรอยด์ข้ามประเทศให้แก่ผู้ป่วย รพ. กลางแห่งเมืองโลกอซซา (Central Hospital of Lokossa) ประเทศเบนิน รวมไปถึงการให้บริการตรวจวินิจฉัยจากการส่องกล้อง และตรวจร่างกายด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า ผ่านเทคโนโลยี 5G และประมวลผลผ่าน Cloud technology อีกด้วย ข้อมูลจาก China Science and technology network (CSTN) ระบุว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2561 นครหยินชวนได้รับการอนุมัติให้เป็นพื้นที่นำร่องการใช้โทรเวชกรรมข้ามประเทศของจีน อย่างไรก็ดี สถานพยาบาลในนครหยินชวนที่มีความร่วมมือทางการแพทย์ข้ามประเทศนี้ยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ข้อมูลจาก CSTN ยังระบุว่าจนถึงปัจจุบัน รพ. ประชาชนนครหยินชวนแห่งที่ 1 (First People’s Hospital of Yinchuan) ให้บริการโทรเวชกรรมข้ามประเทศกับ 3 โรงพยาบาลของประเทศเบนิน ได้แก่ (1) Central Hospital of Bevermono (2) University Hospital of sululere และ (3) Central Hospital of Lokossa ไปแล้วกว่า 2,315 คน และวินิจฉัยร่วมกับแพทย์ท้องถิ่นในการผ่าตัดมากถึง 272 ครั้ง
[su_spacer]
แม้ความร่วมมือข้างต้นจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาการแพทย์อัจฉริยะของประเทศจีน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือสนับสนุนร่วมกันทั้งฮาร์ดแวร์ (ระบบ Big Data / 5G / ความพร้อมของสถานพยาบาล) และซอฟต์แวร์ (นโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐ / เทคนิคการแพทย์) เพื่อสร้างความแม่นยำในการรักษา อย่างไรก็ตาม การแพทย์จีนจำเป็นต้องเร่งพัฒนามาตรฐานและการบริการให้ทั่วถึง เพื่อสร้างชื่อเสียงและความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสม เพราะในปัจจุบันโทรเวชกรรมข้ามประเทศของจีนยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ทั้งนี้ รัฐบาลฯ เขตหนิงเซี่ยหุยมีเป้าหมายที่จะขยายความร่วมมือด้านบริการทางการแพทย์กับกลุ่มประเทศอาหรับ โดย คกก. สุขภาพแห่งชาติจีน (China’s National Health Commission) ได้บรรลุข้อตกลงกับ สนง. ผู้แทนประเทศสันนิบาตอาหรับ ณ กรุงปักกิ่ง (Representative Office of the Arab League in Beijing) ในโครงการป้องกัน ควบคุมโรค และพัฒนาการแพทย์ AI ในกลุ่มประเทศสันนิบาตอาหรับที่ยังด้อยพัฒนา ซึ่งเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้ยากและต้องเดินทางเข้ารับบริการในเมืองใหญ่เท่านั้น
[su_spacer]