หลายปีมานี้ นครหนานหนิงเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยตนเองเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและยกระดับสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ การให้เงินทุนสนับสนุน รวมถึงการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของสตาร์ทอัพ
[su_spacer]
ปี 2561 นครหนานหนิง มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง 750 ราย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของธุรกิจไฮเทคในมณฑลและมีบริษัทที่ผ่านการประเมินเป็นธุรกิจ SMEs ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในระดับประเทศ 297 ราย คิดเป็นสัดส่วน 32.5% ของทั้งมณฑล และมีธุรกิจ SMEs ด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง (ภาษาจีนเรียกว่า บริษัทละมั่ง หรือ Gazelle Company) 19 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับหนึ่งในมณฑล
[su_spacer]
เมื่อไม่นานมานี้ นครหนานหนิงได้จัดการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจทั่วไปและกลุ่มธุรกิจ Star Up เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนักประดิษฐ์ที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตสมัยใหม่ และเภสัชศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งเป็นสาขาที่นครหนานหนิงกำลังส่งเสริมอย่างจริงจังและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี รวมทั้งต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนารูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Business Model Innovation) ได้อย่างสมบูรณ์
[su_spacer]
เวทีดังกล่าวทีมบริษัทจาก “จงกวนชุนนครหนานหนิง” คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศไปได้มากที่สุด เช่น ระบบควบคุมการจราจรบนท้องถิ่นที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต IPv6 บนพื้นฐานเทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูลที่มีความรวดเร็วและแม่นยำสูง เทคโนโลยีการคัดและผสมยารักษาโรคด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AICS) การคัดกรองโรคธาลัสซีเมียผ่านการศึกษาจีโนมิกส์ (genomics) รูปแบบใหม่เพื่อควบคุมและป้องกันความพิการของทารกแรกเกิด โซลูชันสามมิติในการขนส่งเอกสารและพัสดุในโรงพยาบาลอัจฉริยะ
[su_spacer]
จงกวนชุน คืออะไร หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น “จงกวนชุน” ของจีนเทียบได้กับ “ซิลลิคอนวัลเล่ย์” ในสหรัฐอเมริกา และ Cyberport ในเมืองฮ่องกง โดย “จงกวนชุน” มีต้นแบบอยู่ที่เขตไห่เตี้ยน (Haidian District/海淀区) ในกรุงปักกิ่ง โดย “จงกวนชุน” เป็นศูนย์รวมวิสาหกิจชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ที่เริ่มลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘Startup Complex’ ซึ่งจีนมองว่า จะเป็นตัวจักรสำคัญในช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
[su_spacer]
สำหรับ “จงกวนชุนนครหนานหนิง” ตั้งอยู่ในเขตซีเซียงถาง นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็น “จงกวนชุน” แห่งที่ 3 ของจีนที่ตั้งอยู่นอกกรุงปักกิ่ง โดยอีกสองแห่งอยู่ในเขตเมืองใหม่ปินไห่ นครเทียนจิน (BinHai New District/滨海新区) และเขตเมืองใหม่สงอัน มณฑลเหอเป่ย (Xiong’an New District/雄安新区) แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
[su_spacer]
1.ฐานสาธิตนวัตกรรมจงกวนชุนนครหนานหนิง (南宁-中关村创新示范基地/Nanning-Zhongguancun Innovation Demonstration Base) เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 แบ่งเป็น 2 เขตย่อย รวมพื้นที่ 1.42 แสน ตร.ม. ได้แก่ (1.1) ฐานสาธิตนวัตกรรมเขตหมิงเยว่หู (明月湖区) ประกอบด้วยอาคารทรงยุโรป 13 อาคาร มีเนื้อที่ราว 75 ไร่ พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 8 หมื่น ตร.ม. มุ่งส่งเสริมธุรกิจใน 4 สาขาได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ การแพทย์และสุขภาพ การผลิตอุปกรณ์ทันสมัย และการบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (1.2) ฐานสาธิตนวัตกรรมเขตเซียงซือหู (相思湖区) มีเนื้อที่ 12.32 ไร่ พื้นที่สิ่งก่อสร้างรวม 6.26 หมื่น ตร.ม. มุ่งส่งเสริมธุรกิจใน 2 สาขา ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
2.อุทยานวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (南宁–中关村科技园/ Nanning-Zhongguancun Science Park) ตั้งอยู่ในเขตนิคมไฮเทคนครหนานหนิง มีพื้นที่ก่อสร้างราว 4,405 ไร่ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging industry) เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ข้อมูลสารสนเทศ+การผลิตอัจฉริยะ ข้อมูลสารสนเทศ+การบริหารสมัยใหม่ และตั้งเป้าหมายในการเป็น Gateway ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งสู่อาเซียน เป็นฐานอุตสาหกรรมสารสนเทศของมณฑล และเป็นเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะของนครหนานหนิง
[su_spacer]
ปัจจุบัน อุทยานฯ มีธุรกิจประเภท mass entrepreneurship and innovation และทีมบ่มเพาะนวัตกรรม (innovation incubator) จำนวนมาก อุทยานแห่งนี้เปรียบเสมือนแพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจ และเครือข่ายธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ (Enterpreneur) นักออกแบบ (Designer) และนักพัฒนา (Developer) ได้ร่วมระดมความคิดนำไปสู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเมือง
[su_spacer]
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ได้มีโอกาสติดตามคณะกรรมการบริหาร (ทีมประเทศไทย) ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ไปศึกษาดูงานที่อุทยานฯ และได้พบปะพูดคุยกับสตาร์ทอัพในอุทยานฯ โดยหลายบริษัทมีประสบการณ์ในการ “ก้าวออกไป” ลงทุนในต่างประเทศแล้ว และกำลังมองหาลู่ทางในตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ได้แก่
[su_spacer]
– บริษัท Guangxi Cartier Technology Co.,Ltd. (广西卡迪亚科技有限公司) ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะ วาล์วขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้า หลอดไฟ LED และอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องยนต์ (หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงและท่อไอเสียรถยนต์) ผลงานวิจัยที่โดดเด่น คือ หัวฉีดสารละลายยูเรียเพื่อกำจัดมลพิษของควันท่อไอเสีย
– บริษัท Guangxi Shengyao Intelligent Technology Co., Ltd. (广西圣尧航空科技有限公司) ในกลุ่มบริษัท HRG (哈工大机器人集团) ดำเนินธุรกิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสนับสนุนด้านเทคนิคในโดรนสำหรับการเกษตร (ไร่อ้อย) การบินสำรวจงานป่าไม้ (ป้องกันและบรรเทาปัญหาไฟป่า) หุ่นยนต์กับอุปกรณ์อัจฉริยะ อุปกรณ์การก่อสร้างอัจฉริยะที่เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ต
– บริษัท Nanning 3D Printing Technology Inc. (南宁三帝科技有限公司) ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีงานพิมพ์ 3 มิติที่ใช้สำหรับการบินและอวกาศ ยานยนต์ การทหาร การแพทย์และการรักษาพยาบาล การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรกล การศึกษา ปัจจุบัน มีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรมากกว่า 100 รายการ
– บริษัท NAANDANJAIN (纳安丹吉安灌溉有限公司) ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 80 ปี โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างอิสราเอลกับอินเดีย เน้นการนำเสนอโซลูชันด้านการเกษตรแบบครบวงจร ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ระบบหยดน้ำและให้ปุ๋ยในแปลงเกษตรอัจฉริยะ
– บริษัท Chance Technology (广西七三科技有限公司) ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เน้นการวิจัย และการพัฒนา ให้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งด้านการศึกษา การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การแพทย์ และการก่อสร้าง เช่น การศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education) การท่องเที่ยวอัจฉริยะ (Smart Traval) เทคโนโลยีโลกเสมือน (VR Application) เทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) ผลงานที่โดดเด่น คือ ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ด้วยสื่อการเรียนการสอน 3 มิติ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่และนำกลับศึกษาเพิ่มเติมในอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้
[su_spacer]
ทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่สตาร์ทอัพไทยและจีนจะได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม “จงกวนชุนนครหนานหนิง” ที่เป็นพื้นที่ให้บริการและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือมีผลงานการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ เป็นการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นเวทีให้ผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจมีโอกาสได้แสดงผลงาน ระดมทุน และพบปะผู้ร่วมทุนได้โดยตรง
[su_spacer]