เช็กได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 32 โดย World Economic Forum’s 2019 Global Competitiveness Index (GCI) จากการจัดอันดับประเทศและเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 141 แห่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 99% ของ GDP ของโลกได้แบ่งตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจออกเป็น 103 ปัจจัยโดยสามารถจัดกลุ่มได้ 12 กลุ่มประกอบด้วย (1) สถาบันทางเศรษฐกิจ(2) โครงสร้างพื้นฐาน (3) การนํา ICT มาประยุกต์ใช้ในทางเศรษฐกิจ(4) ความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค (5) สุขอนามัย (6) ทักษะ (7) ตลาดสินค้า (8) ตลาดแรงงาน (9) ระบบการเงินและการคลัง (10) ขนาดตลาด (11) พลวัตทางเศรษฐกิจและ (12) ขีดความสามารถด้านนวัตกรรม จากตัวชี้วัดข้างต้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรป 15ประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุด เช็กได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งในด้านความมั่นคงของเศรษฐกิจมหภาค ในขณะที่ขีดความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ในขณะที่จุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจเช็กคือ ขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็ก การขาดพลวัตทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในด้านนวัตกรรม
[su_spacer]
แม้เช็กจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและตลาดภายในประเทศมีความมั่นคง แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน นอกจากผลกระทบที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และสหรัฐ-อียูแล้ว การขาดแคลนแรงงานภายในประเทศนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศปัจจุบัน อัตราการว่างงานของเช็กมีเพียง 2.0 – 2.2% และคาดว่ามีบางช่วงลดลงต่ำกว่า 2.0% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในอียูและกลุ่มประเทศ OECD จึงทำให้ รัฐบาล ต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการเพิ่มโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยภาคอุตสาหกรรมที่เช็กยังคงขาดแคลนแรงงานและเปิดรับแรงงานจากต่างชาติ ได้แก่ (1) พนักงานบัญชีและการเงิน (2) พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (3) พนักงานบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (4) พนักงานขาย (5) พนักงานสนับสนุนภายในสำนักงานเช่น ล่าม เลขา/ผู้ช่วยผู้บริหาร และพนักงานด้านเอกสาร (6) นักทรัพยากรบุคคล (ด้านการคัดเลือกบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการจ่ายเงินเดือน) (7) บุคลากรด้านการศึกษา โดยเฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษ (8) มัคคุเทศก์ (ทั้ง part-time/full-time) และ (9) พนักงานในภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ใช้ภาษาเช็กได้เท่านั้น แต่เปิดรับพนักงานต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส เวียดนาม เกาหลี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความเปิดกว้างและต้องการเปิดรับชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานในเช็กเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
[su_spacer]
เช็กได้พยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศนับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2019 รัฐบาลเช็กได้ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาประเทศในด้านนี้ ดังเห็นได้จาก การประกาศยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านนวัตกรรม ค.ศ. 2019 – 2030 ยุทธศาสตร์แห่งชาติด้าน AI รวมทั้งการเร่งพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างความร่วมมือควบคู่กับการดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของอียู และเป็นที่สังเกตได้ว่า ในทุกเวที การประชุมสัมมนาระหว่างประเทศที่เช็กเป็นเจ้าภาพ นายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลเซ็กจะเน้นย้ำเรื่องความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศแห่งอนาคต (Czech Republic: The Country for the Future) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 เสาหลักภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม ค.ศ. 2019 – 2030 รวมไปถึงการมุ่งพัฒนาด้านนวัตกรรมในระดับท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ เห็นได้จากการที่กรุงปรากประกาศวิสัยทัศน์ “Smart Prague” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนากรุงปรากไปสู่เมืองแห่งนวัตกรรมภายในปี ค.ศ. 2030
[su_spacer]
นอกจากนี้ การที่เซ็กได้รับการจัดอันดับจาก WEF’s 2019 GCI ให้อยู่ในอันดับที่ 32 ซึ่งตกลง 3 อันดับจาก ปี ค.ศ. 2018 ที่อยู่ในอันดับ 29 โดยมีคะแนนรวมลดลงจาก 71.2 เป็น 70.9 (ลดลง 0.3 คะแนน) นั้น สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเช็กที่เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2018 และตลอดปี ค.ศ. 2019 โดยการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเร่งพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่รัฐบาลเช็กให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ของเช็กในปัจจุบันน่าจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการเร่งกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในสาขาที่ไทยและเซ็กให้ความสำคัญ เช่น ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง รวมไปถึงสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานภายในประเทศของเช็ก และน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ โดยที่เช็กเป็นสมาชิกของอียู การเข้ามาทำงานในเช็กจะทำให้แรงงานไทยได้มีโอกาสพัฒนาทักษะ สร้างความคุ้นเคย และปรับตัวให้สอดคล้อง กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของอียูซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่การไปทำงานในประเทศสมาชิกอียูอื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต
[su_spacer]