นครหนานหนิงเป็นเมืองนำร่อง New Smart City สู่อาเซียน โดยมีศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน หรือ CASC i-Center ที่เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง เป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการเข้ามาจัดตั้งฐานธุรกิจ และเป็นพื้นที่ศูนย์รวมอุตสาหกรรมบริการการผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะในอาเซียน
[su_spacer]
การพัฒนานครหนานหนิงสู่เมืองอัจฉริยะจะมุ่งพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 3 กลุ่ม ได้แก่ อินทราเน็ตภายในหน่วยงานภาครัฐ (Government Intranet) อินเทอร์เน็ตภาคธุรกิจ (Business Net) และอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Net) เพื่อสนับสนุนบริการที่หลากหลายให้กับทุกภาคส่วน
[su_spacer]
แอปพลิเคชัน “爱南宁” หรือ อ้ายหนานหนิง (i-Nanning) เป็นซอฟต์แวร์ชิ้นแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนานครหนานหนิงสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยแอปดังกล่าวมีบริการสาธารณะมากกว่า 90 รายการ ครอบคลุมบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-ID) บริการภาครัฐ บริการในชีวิตประจำวัน การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง สุขภาพ การศึกษา และการสร้างงานสร้างอาชีพ ขณะนี้มีผู้ใช้งานมากกว่า 7.5 ล้านราย
[su_spacer]
ย้อนกลับไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 นครหนานหนิงเป็นเมืองแห่งเดียวของจีนที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการเมืองอัจฉริยะที่จัดขึ้นในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East-Asia Summit) ครั้งที่ 16
[su_spacer]
ในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวปาฐกถาว่า จีนพร้อมสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายเมืองอัจฉริยะของอาเซียน และใช้ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor/中国-东盟信息港) หรือ CAIH ในนครหนานหนิงเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือในการสร้างโครงข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน
[su_spacer]
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีหลี่ฯ ได้เยี่ยมชมบูธ พร้อมกล่าวแสดงความชื่นชมและขอบคุณนครหนานหนิง และขอให้นครหนานหนิงพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป
[su_spacer]
ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน (China-ASEAN Smart City Innovation Center/中国—东盟新型智慧城市协同创新中心) หรือ CASC i-Center เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์สำคัญของศูนย์ CAIH ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงของนครหนานหนิง เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ มีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ เป็นพื้นที่ตัวอย่างอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า และเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมบริการการผลิตและศูนย์วิจัยและพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะในอาเซียน
[su_spacer]
ปัจจุบัน มีบริษัทและสถาบันวิจัยด้านนวัตกรรมชั้นนำหลายแห่งเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในศูนย์ CASC i-Center แล้ว ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ อาทิ INSPUR (浪潮集团) ผู้นำด้านคลาวด์คอมพิวติ้งในจีน iFLYTEK (科大讯飞) บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำ DtDream (数梦工场) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโซลูชันแนวใหม่ในเครืออาลีบาลา Cloudbae (云宝宝) ผู้ให้บริการบิ๊กดาต้าและผู้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ
[su_spacer]
การพัฒนานครหนานหนิงไปสู่เมืองอัจฉริยะของบริษัท Cloudbae หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “อวิ๋นป่าวปาว” มุ่งเน้นการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 3 กลุ่ม ได้แก่ อินทราเน็ตภายในหน่วยงานภาครัฐ (Government Intranet) อินเทอร์เน็ตภาคธุรกิจ (Business Net) และอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Net) เพื่อสนับสนุนบริการที่หลากหลายให้กับทุกภาคส่วน อาทิ
[su_spacer]
- บริการภาครัฐ (e-Government)ปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ47 หน่วยงาน ช่วยให้การติดต่อของประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในครั้งเดียว จากเดิมที่ต้องวิ่งไปติดต่อทีละหน่วยงาน รวมถึงการประเมินคะแนนความน่าเชื่อถือส่วนบุคคล
- บริการภาคประชาชน ช่วยให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมบริการต่างๆ เช่น ประกันสังคม อสังหาริมทรัพย์ บริการเช่าซื้อ การรักษาพยาบาล การจอดรถ การประกันภัย การศึกษา การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การสั่งซื้อและชำระเงินค่าสินค้า
- บริการภาคธุรกิจ มุ่งให้บริการผ่านเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง อินเทอร์เน็ต บล็อกเชน เพื่อสนับสนุนบริการและโซลูชันสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ
[su_spacer]
โดยประชาชนสามารถรับการบริการที่สะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชัน “爱南宁” หรือ อ้ายหนานหนิง (i-Nanning) แพลตฟอร์มบริการสาธารณะที่มีมากกว่า 90 รายการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเมืองสู่ “เมืองอัจฉริยะ”
[su_spacer]
ข้อมูลและบริการที่ประชาชนจะได้รับนั้นครอบคลุม 7 ด้านสำคัญ อาทิ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (e-ID) บริการภาครัฐ บริการในชีวิตประจำวัน การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง สุขภาพ การศึกษา และการสร้างงานสร้างอาชีพ ขณะนี้ มีผู้ใช้งานมากกว่า 7.5 ล้านราย
[su_spacer]
นครหนานหนิงเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียน การพัฒนา New Smart City ของนครหนานหนิงเป็นอีกหนึ่งผลงานต้นแบบที่จีนใช้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนา “อุตสาหกรรมดิจิทัล” อีกด้วย
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง