รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศใช้มาตรการลงทะเบียนระบบศุลกากรอัตโนมัติให้แก่บริษัทต่าง ๆ ในประเทศ ที่ทําธุรกิจกับคู่ค้าสหภาพยุโรป (EU) โดยนาย Sajid Javid รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนเตรียมความพร้อมในกรณี No-deal Brexit ของรัฐบาล เพื่ออํานวยความสะดวกให้บริษัทของสหราชอาณาจักรสามารถดําเนินธุรกิจต่อเนื่องกับประเทศสมาชิก EU ทันทีหลังออกจาก EU ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบริษัทที่จดทะเบียนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้วประมาณ 72,000 แห่ง ซึ่งจะได้รับหมายเลขทะเบียน EORI (Economic Operator Registration and Identification number) ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2562 และคาดว่า บริษัทที่ยังไม่ได้ดําเนินการอีกจํานวนประมาณ 88,000 แห่ง จะได้รับประโยชน์จากมาตรการลงทะเบียนบริษัทอัตโนมัตินี้ และจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาในกรณี No-deal Brexit ด้วย
[su_spacer]
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 รัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ลงนามในความตกลง Continuity Trade Agreement อย่างเป็นทางการ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าระหว่างเกาหลีใต้ – EU และจะมีผลบังคับใช้ทันทีที่สหราชอาณาจักรออกจาก EU แม้ในกรณี No-deal Brexit เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถรักษาความร่วมมือทางการค้าที่มีมูลค่ากว่า 14.6 พันล้านปอนด์ต่อปีไว้ดังเดิมให้ต่อเนื่องไป ทั้งนี้ เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศคู่ค้าสําคัญของสหราชอาณาจักร และเป็นประเทศแรกในเอเซียที่สหราชอาณาจักรสามารถทําความตกลงทางการค้าลักษณะดังกล่าวได้เป็นผลสําเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรสามารถลงนามความตกลงเพื่อรักษาการค้าต่อเนื่องได้ทั้งหมดเพียง 13 ฉบับ ครอบคลุม 38 ประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้ เป็นต้น
[su_spacer]
ในด้านการลงทุนของต่างชาติในสหราชอาณาจักร ระหว่างเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2562 นั้น บริษัทที่เป็น tech startup ของสหราชอาณาจักร สามารถดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติจากนอกสหราชอาณาจักรได้ถึง 5.5 พันล้านปอนด์ โดยเงินลงทุนจํานวนร้อยละ 55 (ประมาณ 3.1 พันล้านปอนด์) มาจากนักลงทุนในสหรัฐฯ และในเอเชีย โดยมีการลงทุนหลักในบริษัทเอกชนที่ถูกเรียกว่าเป็น “unicorns” (บริษัทที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 820 ล้านปอนด์) เช่น บริษัท Ovo Energy (บริษัทพลังงานหมุนเวียน) บริษัท Deliveroo (บริษัทบริการส่งอาหารถึงบ้าน) เป็นต้น ทําให้สหราชอาณาจักรมีอัตราเงินลงทุนต่างชาติต่อจํานวนประชากรเพิ่มมากขึ้นและสูงกว่าของสหรัฐฯ
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Hamptons International ระบุว่า ความต้องการในการซื้อบ้านในสหราชอาณาจักรของชาวต่างชาติโดยเฉพาะในย่านที่มีราคาแพงของกรุงลอนดอน เช่น ย่าน Belgravia ย่าน Mayfair ย่าน Knightbridge และย่าน Chelsea มีปริมาณลดลงจากร้อยละ 58 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 44 ในช่วง เดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 โดยปริมาณการซื้อบ้านของชาวเอเชีย โดยเฉพาะผู้ซื้อชาวจีนและชาวฮ่องกง ลดลงมาอยู่ในอัตราเพียงร้อยละ 6 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับร้อยละ 16 ในช่วงเดียวกันของปี 2561 ในขณะที่ปริมาณผู้ซื้อจาก EU เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ผู้ซื้อชาวต่างชาติหันไปให้ความสนใจกับบ้านในบริเวณชานเมืองกรุงลอนดอนมากขึ้นถึงร้อยละ 27 โดยเฉพาะในย่าน Wandsworth ย่าน Richmond และย่าน Bromley
[su_spacer]
นอกจากนี้ บริษัทส่งเสริมการลงทุนต่างชาติของเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Foreign Investment Agency หรือ NFIA) ให้ข้อมูลว่า มีบริษัทในสหราชอาณาจักรเกือบ 100 แห่ง ได้ย้ายสำนักงานออกจากสหราชอาณาจักร หรือจัดตั้งสำนักงานอีกแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์แล้ว และมีบริษัทอีก 325 แห่ง ที่แสดงความสนใจและกําลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการย้ายสำนักงานไปยังเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ NFIA เปิดเผยว่า ความไม่ชัดเจนทางการเมืองของสหราชอาณาจักร และแนวโน้มของ No-deal Brexit เป็นสาเหตุให้จํานวนของบริษัทที่สนใจย้ายสำนักงานมายังเนเธอร์แลนด์เพิ่มสูงขึ้น โดยมีบริษัทในหลายภาคส่วน เช่น ด้านการเงิน ด้านข้อมูลทางเทคโนโลยี ด้านสื่อโฆษณา วิทยาศาสตร์และด้านสุขภาพ เป็นต้น
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรพยายามเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการออกจาก EU ของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในกรณี No-deal Brexit มากขึ้นกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น การเปลี่ยนจากการรอให้บริษัทมาขอจดทะเบียนหมายเลข EORI เป็นการลงทะเบียนแบบอัตโนมัติให้กับบริษัทที่ทําการค้ากับ EU การเพิ่มจํานวนเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ด่าน การเตรียมพื้นที่จอดรอสําหรับรถขนส่งขนาดใหญ่ที่ด่านเพื่อลดความแออัด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวจะช่วยอํานวยความสะดวกและลดความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นที่ด่านศุลกากรได้ แต่อาจได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดย CBI ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ยังมีบริษัทในภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ยังไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ No-deal Brexit เนื่องจากปัจจัยด้านเงินทุนและความไม่ชํานาญในการดําเนินขั้นตอนต่าง ๆ ที่จําเป็นตามนโยบายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ นาย Mark Carney ผู้ว่าการธนาคารกลางสหราชอาณาจักร ได้ออกมากล่าวเตือนว่า ความไม่พร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ No-deal Brexit ของภาคส่วนเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทําให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเกิดความผันผวนมากยิ่งขึ้น
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร รายงานจากหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า ความสําเร็จของบริษัท “unicorns” ต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ fintech เช่น บริษัท Revolut บริษัท Monzo และ บริษัท Transferwise และภาคบริการ เช่น บริษัท Deliveroo ก็ยังเป็นจุดขายสําหรับการลงทุนในสหราชอาณาจักรได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าว ได้รับการพัฒนาให้เอื้อประโยชน์กับสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลานาน จนอาจกล่าวได้ว่า สหราชอาณาจักรน่าจะยังสามารถรักษาศักยภาพและความโดดเด่นในด้าน tech startup ในภูมิภาคยุโรปไว้ได้ และจะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรต่อไปได้อีกในช่วง Post Brexit ด้วย
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน