จากรายงาน World Economic Outlook 2019: Growth Slowdown, Precarious Recovery ของ International Monetary Fund (IMF) เศรษฐกิจบรูไนถูกคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลางภายใน 2 ปีข้างหน้าและจะเริ่มชะลอตัวหลังจากนั้น โดยมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.8 (ปี 2562) ร้อยละ 6.6 (ปี 2563) และร้อยละ 2.2 (ปี 2567) ในขณะที่รายงาน Asian Development Outlook 2019:Strengthening Disaster Resilience ของ Asian Development Bank (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจบรูไนในปี 2562 และปี 2563 จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ 1.5 ตามลำดับ
[su_spacer]
ทั้งนี้ รายงานทั้งสองฉบับมีการคาดการณ์แนวโน้มอัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน โดยรายงานของ IMF ได้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดการชะลอตัวในต้นปี 2562 เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ มหภาค อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน สถานการณ์ Brexit ปัญหาหนี้สินและการเงิน และอื่น ๆ แต่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หากสถานการณ์ต่าง ๆ คงที่ และเศรษฐกิจใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดียยังคงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) สามารถคงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5
[su_spacer]
ส่วนรายงานของ ADB จะเน้นการวิเคราะห์สถานะและปัจจัยเศรษฐกิจรายประเทศ โดยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจบรูไนจะสามารถเติบโตได้ในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก ในขณะที่แนวโน้มใหม่ของโลกเริ่มนิยมใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันโลกยังคงถูกกด จึงส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจบรูไนในระยะยาว นอกจากนี้ การปิดซ่อมแซมโรงกลั่นน้ำมันของบรูไน ได้แก่ Hengyi Refinery ที่ Palau Muara Besar และ Brunei Fertilizer Industries ที่ Sungai Liang Industrial Park ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจบรูไนในระยะสั้นอีกด้วย
[su_spacer]
สภาวะเศรษฐกิจบรูไนฯ ในครึ่งปีแรก
การค้า
กรมการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ (Development of Economic Planning and Development) ได้รายงานข้อมูลมูลค่าการค้าบรูไนในไตรมาสแรก ดังนี้ ในเดือนมกราคมมีมูลค่าการค้าที่ BND 1,436.7 ล้าน (ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน) กุมภาพันธ์มูลค่าการค้า BND 1,038.9 ล้าน (หดตัวร้อยละ 27.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน) และมีนาคมมูลค่าการค้า BND 1,144.9 (ขยายตัวร้อยละ 24.2 m-o-m)ทั้งนี้ 5 ประเทศแรกที่บรูไนส่งออกสินค้าไปมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วน 5 ประเทศแรกที่บรูไนนำเข้าสินค้ามากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
[su_spacer]
การลงทุน
รัฐบาลบรูไนยังคงให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก โดยได้พยายามส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน รัสเซีย และมาเลเซีย เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Palau Muara Besar อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตน้ำมันและก๊าซ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลบรูไนได้พยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนมากยิ่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลาย ได้แก่ อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมด้านการเกษตร อุตสากรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น
[su_spacer]
ปัญหาการตกงานในบรูไน
กรมการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ (Development of Economic Planning and Development)ได้รายงานว่า บรูไนมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 9.3 (ข้อมูลล่าสุดจากปี 2561) ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทรวงแรงงานและอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ริเริ่มพัฒนาระบบการบริหารข้อมูลเกี่ยวกับแรงงาน (Labour Management Information System) เมื่อปี 2561 เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการแรงงานของภาคเอกชนเข้ากับระบบพัฒนาแรงงานของรัฐ อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวยังไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้เมื่อใด
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน