เจาะลึกพัฒนาการล่าสุด โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน – ปากีสถาน (CPEC)
นาย Minaj Gut Baloch ให้ความเห็นในบทความจากหนังสือพิมพ์ Balochistan Express ว่า โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน – ปากีสถาน CPEC เมือง Gwadar แคว้นบาลูจิสถาน ยังไม่อาจนํามาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองแก่สาธารณชนในแคว้นบาลูจิสถาน เพราะแม้แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจุดศูนย์กลางของโครงการเช่นเมือง Gwadar ก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากโครงการฯ ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคของโครงการ CPEC ในพื้นที่ คือการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้อย่างรุนแรงที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลปากีสถาน (ทางการเมือง Quetta ออกกฎระเบียบห้ามใช้น้ำล้างรถยนต์และรดน้ำต้นไม้ เนื่องจากกรณีเมือง Quetta ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง) จึงเป็นเรื่องแปลก หากมีคนอ้างว่า โครงการ CPEC จะนําความเจริญรุ่งเรืองมาทั่วแคว้นบาลูจิสถาน จากสถิติที่ปรากฏ พบว่า ชาวบาลูจิสถานร้อยละ 62 ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และพื้นที่ของแคว้นบาลูจิสถานร้อยละ 58 ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางเกษตรกรรมได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากความแห้งแล้ง แม้ว่ารัฐบาลปากีสถานมีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกเมือง Gwadar ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล แต่น่าเสียดายที่ชาวบาลูจิสถานยังขาดแคลนปัจจัยหลักสําหรับการดํารงชีวิต
[su_spacer]
บทความข้างต้น กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นาย Sun Weidong เอกอัครราชทูตจีนประจำปากีสถาน เคยกล่าวไว้ว่า โครงการ CPEC จะสามารถแก้ไขปัญหาการว่างงานในบาลูจิสถานได้ แต่นาย Munaj เห็นแย้งว่า แคว้นบาลูจิสถานซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุดของปากีสถาน (พื้นที่ร้อยละ 64 ของประเทศ) แต่เป็นแคว้นที่ยากจนที่สุด จํานวนประชาชนที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (below poverty line) สูงถึงร้อยละ 53 จํานวนผู้ว่างงานตามที่ปรากฏในสถิติของรัฐบาลแคว้นบาลูจิสถานมีอยู่ร้อยละ 32 โดยในแต่ละปี จะมีบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 25,000 คน ในจํานวนดังกล่าว มีเพียง 2,000 คน เท่านั้น ที่หางานทําได้ ซึ่งนักวิชาการบางราย ให้ความเห็นว่า จํานวนผู้ว่างงานจริง น่าจะสูงกว่าสถิติทางการหลายเท่าตัว
[su_spacer]
นาย Kaiser Bengali นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส อดีตที่ปรึกษามุขมนตรีแคว้นบาลูจิสถาน กล่าวว่า โครงการ CPEC ไม่ใช่ game changer แต่เป็น game Over มากกว่า และอาจจะไม่ใช้โครงการที่สร้างสถานการณ์ win-win แก่ทั้งสองประเทศ นาย Bengali มองว่า โครงการ CPEC เป็นสัญญาณอันตรายสําหรับธุรกิจท้องถิ่น เช่น สมาคมผู้ประกอบการจําหน่ายสายเคเบิลในปากีสถาน ซึ่งเคยทํายอดขายสูง แต่ปัจจุบันกลับต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันสู้กับบริษัทจีนที่นําเข้าเคเบิลโดยไม่ต้องเสียภาษีได้อีกต่อไป ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Gwadar นาย Bengali กล่าวว่า ท่าเรือ Gwadar ไม่อาจเทียบเท่าท่าเรือดูไบ ตามที่รัฐบาลปากีสถานป่าวประกาศไว้ เนื่องจาก Gwadar เป็นท่าเรือที่สร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการพักสินค้าของจีนที่นําเข้าปากีสถานโดยทางบก ก่อนส่งออกต่อไปยังภูมิภาคอื่น (re-exporting) และเห็นว่ารัฐบาลปากีสถานไม่สามารถจะสร้างเมือง Gwadar ให้เป็นเมือง Mega City ได้ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำในแคว้นบาลูจิสถานที่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน รัฐบาลปากีสถานเคยแสดงความเห็นว่าจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการสร้างโรงกลั่นน้ำทะเล (Desalination Plants) แต่นาย Bengli เห็นว่า คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการสร้างโรงกลั่นน้ำทะเลต้องใช้งบประมาณและมีค่าใช้จ่าย ในการบํารุงรักษาที่สูง ซึ่งคาดว่า ต้องใช้งบประมาณจํานวน 750 ล้านรูปีฯต่อปี รัฐบาลจีนคงไม่ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในเรื่องนี้ รัฐบาลปากีสถานจึงไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากส่วนแบ่งของภาษีจากการบริหารท่าเรือ Gwadar ที่ปากีสถานจะได้รับมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น ในขณะที่จีนจะได้ส่วนแบ่งถึงร้อยละ 91
[su_spacer]
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Daily Times กล่าวสนับสนุนความเห็นดังกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลปากีสถานพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชน เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า โครงการท่าเรือ Gwadar จะเปลี่ยนโฉมหน้าปากีสถาน ไม่เฉพาะในพื้นที่ แต่รวมถึงในภูมิภาคด้วย แต่งบประมาณที่ได้รับมา ไม่ได้มีการจัดสรรเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน จึงเห็นว่า รัฐบาลปากีสถานกําลังทําสงครามจิตวิทยากับประชาชนด้วยการอ้างว่า โครงการท่าเรือ Gwadar คือ game changer สําหรับปากีสถาน
[su_spacer]
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปากีสถาน กล่าวย้ำในหลายโอกาสว่า โครงการท่าเรือ Gwadar จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าปากีสถาน ได้ในอนาคต โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคเอเชียใต้ เนื่องจากความสําคัญทางภูมิศาสตร์และเป็นหนึ่งในท่าเรือน้ำลึกนอกช่องแคบ Hormuz รวมทั้งการเชื่อมต่อกับภาคตะวันตกของจีนและประเทศในเอเชียกลางที่ไม่มีทางออกทางทะเล และโครงการต่าง ๆ ของ CPEC จะช่วย ปากีสถานหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า และจะเป็น ตัวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในปากีสถาน จึงเป็นโอกาสของปากีสถานที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองการาจี