โครงการก่อสร้าง “ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” สร้างขึ้นที่สถานีรถไฟท่าเรือชินโจวตะวันออกเพื่อรองรับ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor – ILSTC) และเพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ระหว่าง “เรือ+รถไฟ” ตามกรอบยุทธศาสตร์ “เส้นทางการค้าเชื่อมทางบกและทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” โดยสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ปีละ 3 ล้าน TEUs เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ “ท่าเรือชินโจว” บรรลุเป้าหมายการเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้า 10 ล้าน TEUs ได้ [su_spacer size=”20″]
สำหรับโครงการเฟสแรก ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ (1) เขตปฏิบัติการสถานีตะวันออก ที่จะใช้รองรับงานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟในประเทศเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปูรางรถไฟ คาดว่าจะพร้อมใช้งานได้ในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และ (2) เขตปฏิบัติการท่าเรือ ที่จะใช้รองรับงานขนถ่ายตู้สินค้าเชื่อมระหว่างเรือกับรถไฟเป็นหลัก โดยเริ่มการก่อสร้างไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดหมายว่าโครงการทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2562 โดยโครงการเฟสแรกได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 9 แสน TEUs และจะทำให้การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออกที่ท่าเรือชินโจวระหว่าง “เรือกับรถไฟ” จะเป็นการขนส่งแบบไร้รอยต่อ โดยสามารถขนย้ายตู้สินค้าจากเรือขึ้นรถไฟเพื่อส่งไปยังพื้นที่ตอนในของจีน พร้อมขนย้ายตู้สินค้าจากพื้นที่ตอนในของจีนจากทางรถไฟเพื่อขึ้นเรือที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง [su_spacer size=”20″]
อีกทั้ง “ท่าเรือชินโจว” เป็นตัวเลือกการขนส่งสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ค้าไทยในการส่งออกสินค้าไปยังจีน โดยเฉพาะพื้นที่จีนตอนใน (ภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่าง) เนื่องจากท่าเรือแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านระยะทางที่ใกล้กับไทย มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ มีความสะดวกรวดเร็ว และมีความคล่องตัวในการขนส่งสูงเมื่อเทียบกับท่าเรือใหญ่แห่งอื่น ๆ ที่มีความแออัด ทำให้มีต้นทุนค่าเสียเวลา [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง