ปัจจุบันสหรัฐอเมริกากลับมาบังคับใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่าน เพียงไม่กี่เดือนหลังจากอิหร่านถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยแถลงการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศถึงการกลับมาบังคับใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่านที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกระงับไปภายใต้ความตกลง Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) เมื่อปี ค.ศ. 2015
สำหรับการกลับมาบังคับใช้มาตรการลงโทษในครั้งนี้ สหรัฐฯ ได้พยายามตัดรายได้ของรัฐบาลอิหร่านที่จะนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมที่บั่นทอนความมั่นคงของโลก และได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในโลกในการยุติการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจะขึ้นบัญชีบุคคลและองค์กรต่างชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิหร่านให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินของสหรัฐฯ และไม่สามารถทำธุรกิจกับสหรัฐได้
มาตรการลงโทษที่นำกลับมาบังคับใช้ครั้งนี้ ในช่วงแรกมีเป้าหมายที่ธุรกิจยานยนต์ การค้าขายทองคำ และโลหะสำคัญ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2561 ส่วนการบังคับใช้มาตรการลงโทษรอบที่สองมีผลบังคับใช้วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 โดยมีเป้าหมายที่อุตสาหกรรมสาขาพลังงาน ธุรกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ อุตสาหกรรมต่อเรือ และการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินต่างประเทศกับธนาคารกลางของอิหร่าน อย่างไรก็ดี มาตรการลงโทษยังคงยกเว้นการซื้อขายอาหาร สินค้าเกษตร เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์
ในการบังคับใช้มาตรการลงโทษรอบแรก ทางสหรัฐฯ ยึดมั่นที่จะบังคับใช้มาตรการลงโทษดังกล่าว อย่างเต็มที่ และจะดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับประเทศที่ยังดำเนินธุรกิจกับอิหร่าน ให้ปฏิบัติตามมาตรการลงโทษดังกล่าว โดยที่บุคคลหรือองค์กรใดที่ไม่ยุติการทำธุรกิจกับอิหร่านมีความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ที่ร้ายแรง ส่งผลให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากได้ประกาศความตั้งใจที่จะถอนตัวจากการทำธุรกิจ และระบุว่าจะลดหรือยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน โดยสหรัฐฯ ยังได้ผลักดันให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกัน และกล่าวเตือนอิหร่านว่ามีเพียง 2 ทางเลือกเท่านั้น คือ เปลี่ยนพฤติกรรมของตนที่เป็นภัยคุกคามและกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก หรือเดินหน้าต่อไปในเส้นทางที่จะนำไปสู่การถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ
การดำเนินการของสหรัฐฯ ยังรวมถึงการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามใน Executive Order “Reimposing Certain Sanctions with Respect to Iran” สอดคล้องกับ Presidential Memorandum เมื่อ 8 พฤษภาคม 2561 ที่สหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากความตกลง JCPOA ซึ่งการถอนตัวจากความตกลงของสหรัฐฯ ถือเป็นการใช้แรงกดดันสูงสุด (maximum pressure) ทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน จนถึงปัจจุบันรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ได้บังคับใช้มาตรการลงโทษต่ออิหร่านถึง 17 ครั้ง ขึ้นบัญชีลงโทษบุคคลและองค์กรต่าง ๆ 145 ราย บังคับใช้มาตรการลงโทษทั้งหมดที่เคยยกเว้นภายใต้ JCPOA ทำให้ตัวบุคคล องค์กร เรือ และเครื่องบินจำนวนหลายร้อยรายการที่เคยถูกขึ้นบัญชีก่อนหน้าก็จะกลับมาถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีรายชื่อนี้อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ รายละเอียดของสาขาธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของการกลับมาบังคับใช้มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านตามที่ปรากฏในประกาศของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีดังนี้
(1) การซื้อหรือครอบครองธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลอิหร่าน
(2) การซื้อขายทองคำ และโลหะมีค่าอื่น ๆ
(3) กราไฟต์ อลูมิเนียม เหล็ก ถ่านหิน และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
(4) ธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินสกุลเรียลของอิหร่าน
(5) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหนี้ภาครัฐ (sovereign debt) ของอิหร่าน
(6) อุตสาหรรมรถยนต์ของอิหร่าน
ในการบังคับใช้มาตรการลงโทษรอบสอง ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องการกลับมาบังคับใช้มาตรการลงโทษทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่เคยยกเว้นภายใต้ JCPOA ต่ออิหร่าน และยืนยันถึงผลบังคับใช้วันที่ 5 พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้บรรยายสรุปกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเป้าหมายหลักของการบังคับใช้มาตรการลงโทษที่จะมีผลบังคับใช้ว่าเป็นการตัดรายได้ของรัฐบาลอิหร่านที่จะนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมที่บั่นทอนความมั่นคงในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และเพื่อบังคับให้อิหร่านละทิ้ง “well-documented outlaw activities” และควรมีพฤติกรรมเหมือนประเทศอื่น ๆ ทั่วไป (normal country) ทั้งนี้ เพื่อให้ “pressure campaign” ประสบผลสำเร็จมากที่สุด สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อยุติการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านให้มากที่สุด
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้ติดตามการกลับมาของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านอย่างใกล้ชิดเพื่อผลประโยชน์ของภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจหรือประสงค์จะดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับอิหร่าน โดยในระหว่างที่รอติดตามข่าวมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านคราวนี้ของสหรัฐฯ ภาคเอกชนไทยจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อม โดยศึกษาถึงสถานการณ์อย่างเข้าใจว่าสามารถทำสิ่งใดได้ และสิ่งใดยังคงต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ หน่วยงานและองค์กรที่อาจยังมีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านควรทราบพัฒนาการล่าสุดดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการตอบโต้และลงโทษของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อบุคคลและองค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถตรวจสอบรายชื่อที่ได้รับการขึ้นบัญชีลงโทษรอบใหม่เพิ่มเติมได้ที่ https://www.treasury.gov/resource-center/sanctions/OFAC-Enforcement/Pages/20181105_names.aspx และควรติดตามความคืบหน้าจากประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดว่า สถานการณ์หลังการคว่ำบาตรอิหร่านในคราวนี้จะไปในทิศทางใด และหากอิหร่านปฏิบัติตามสหรัฐฯ ก็อาจจะนำมาสู่การประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน อันจะเป็นการปลดล็อกให้บริษัทไทยสามารถทำธุรกิจกับอิหร่านได้ ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอิหร่านฟื้นคืนกลับมาสู่สภาวะปกติอีกครั้ง
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน