ตั้งแต่เปิดใช้งานมาเมื่อปีที่ผ่านมา สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong – Zhuhai – Macao Bridge: HZMB) ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักธุรกิจหรือผู้ที่ต้องเดินทางระหว่างเมืองทั้งสามเมืองสามารถเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมายให้มานั่งรถชมทัศนียภาพกลางทะเล ข้ามสะพานที่ขึ้นชื่อว่ายาวที่สุดในโลก มีต้นทุนการสร้างที่แพงที่สุดในโลก และผ่านอุโมงค์ใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย บทความของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ เกาะฮ่องกงในวันนี้จะรวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสะพานดังกล่าวที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งนักธุรกิจและนักเดินทางชาวไทยมาให้อ่านกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วย (1) ความเป็นมาและจุดเด่นของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (2) ความสำคัญของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (3) การเดินทาง และ (4) โอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย [su_spacer size=”20″]
ความเป็นมาและจุดเด่นของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า
ความคิดที่จะสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างฮ่องกง มาเก๊า และจีนแผ่นดินใหญ่ได้มีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ช่วงปี 2526 ก่อนจะมีการพิจารณาและวางแผนกันหลายทศวรรษ จนได้เริ่มก่อสร้างสะพานที่จะเชื่อมต่อฮ่องกง มาเก๊า และเมืองจูไห่ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม 2552 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 9 ปีจนแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และเปิดให้สาธารณชนได้ใช้บริการไปตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2561 [su_spacer size=”20″]
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊ามีต้นทุนการสร้างอยู่ที่ราว ๆ 1 แสน 2 หมื่น 7 พันล้านหยวน (หรือประมาณ 5 แสน 9 หมื่น 1 พันล้านบาท) ซึ่งก็แบ่งกันรับผิดชอบโดยรัฐบาลฮ่องกง รัฐบาลมาเก๊า และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง มูลค่าดังกล่าวทำให้สะพานแห่งนี้กลายเป็นสะพานที่แพงที่สุดในโลกในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการประมาณว่าจำนวนเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างสะพานแห่งนี้สามารถสร้างหอไอเฟลได้ถึง 60 หอเลยทีเดียว [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊ายังได้รับการขนานนามให้เป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีความยาวรวมแล้ว 55 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ (1) สะพานหลัก (Main Bridge) ยาว 29.6 ก.ม. (2) ทางเชื่อมจากสะพานหลักไปสู่ฮ่องกง (Hong Kong Link Road) ยาว 12 ก.ม. และ (3) ทางเชื่อมจากสะพานหลักไปสู่เมืองจูไห่ (Zhuhai Link Road) ยาว 13.4 ก.ม. ส่วนทางเชื่อมจากสะพานหลักไปสู่มาเก๊า (Macao Link Road) นั้นเป็นเพียงทางสั้น ๆ ที่แยกไปมาเก๊า จึงไม่ได้นับรวมในความยาว 55 กิโลเมตรที่กล่าวมาข้างต้น และเนื่องจากน่านน้ำที่สะพานข้ามผ่านเป็นเส้นทางการคมนาคมของเรือขนส่งสินค้าที่พลุกพล่านมาก สะพานแห่งนี้จึงถูกสร้างให้มีส่วนที่เป็นอุโมงค์ใต้น้ำเพื่อที่จะช่วยให้เรือขนส่งสินค้าสามารถแล่นผ่านไปได้โดยไม่ต้องมีการเปิด-ปิดสะพาน ซึ่งอุโมงค์ใต้น้ำดังกล่าวยังถือเป็นอุโมงค์ใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลก (6.7 ก.ม.) และอยู่ลึกที่สุด (48 เมตรใต้น้ำทะเล) ในบรรดาอุโมงค์แบบเดียวกันอีกด้วย [su_spacer size=”20″]
ทั้งสองฝั่งของสะพานฯ จะมีเกาะเทียมที่สร้างไว้เพื่อเป็นที่ตั้งของด่านสำหรับผ่านเข้าเมืองทั้งสามเมือง โดยทางฝั่งฮ่องกงเกาะดังกล่าวจะตั้งอยู่สุดทางของ Hong Kong Link Road และเชื่อมต่อกับเกาะที่เป็นที่ตั้งของ สนามบินนานาชาติฮ่องกง (Hong Kong International Airport – HKIA) ด่านของฮ่องกงซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเทียมนี้เรียกว่า Hong Kong Port โดยจะมีทั้งอาคารผู้โดยสาร (Passenger Clearance Building – PCB) ที่มีจุดตรวจคนเข้าเมืองและการศุลกากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า-ออกฮ่องกง ด่านตรวจสำหรับยานพาหนะที่จะผ่านขึ้นสะพานหรือเข้าเมืองฮ่องกง (Vehicle Clearance Plazas – VCPs) และท่ารถโดยสารสำหรับขึ้นสะพานหรือเข้าเมืองฮ่องกง (Public Transport Interchanges – PTI) ส่วนด่านของเมืองจูไห่ (Zhuhai Port) และด่านของมาเก๊า (Macao Port) จะตั้งอยู่บนเกาะเทียมที่อยู่สุดทางของสะพานหลักก่อนจะมีทางแยกไป Zhuhai Link Road และ Macao Link Road ซึ่งนอกจากจะอยู่บนเกาะเดียวกันแล้ว Zhuhai Port และ Macao Port ยังใช้อาคารผู้โดยสารร่วมกันด้วย โดยจุดตรวจคนเข้าเมืองและการศุลกากรของแต่ละเมืองจะอยู่กันคนละส่วนของอาคารดังกล่าว [su_spacer size=”20″]
ในบทความครั้งต่อไปเตรียมพบกับความสำคัญของสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าในเชิงลึก และเตรียมอัพเดทข้อมูลกฎระเบียบการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง ซึ่งจะมีทั้งเรื่องของวีซ่า บริการรถประจำทาง รถรับจ้าง และการใช้ส่วนยนต์ส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการไทยและนักเดินทางทั่วไปจำเป็นต้องรู้ [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง