เจ้าผิวก์ (Kyaukphyu) เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่เชื่อมโยงการค้าสินค้าเกษตรกรรมระหว่างเมียนมาและอินเดียมาเป็นเวลานาน โดยที่รัฐบาลเมียนมาเล็งเห็นถึงศักยภาพของเมืองดังกล่าว จึงได้จัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyaukphyu Special Economic Zone – KPSEZ) ซึ่งเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 3 ของเมียนมา มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยพื้นที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ โครงการท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม (พื้นที่พัฒนาเบื้องต้น 625 ไร่) และพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน [su_spacer size=”20″]
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ KPSEZ รัฐบาลเมียนมาและกลุ่มบริษัท CITIC Group ของจีน ได้ลงนามความตกลงเรื่องท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวก์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการก่อสร้าง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กรอบความตกลงดังกล่าวจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวก์และการขนส่งโดยรวม อย่างไรก็ดี ฝ่ายเมียนมาและฝ่ายจีนยังต้องเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อไป [su_spacer size=”20″]
ปัจจุบัน รัฐบาลเมียนมาได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ภายใต้นโยบาย Look East ซึ่งรวมถึงการจัด Roadshow ที่จีนโดยคณะกรรมการ การลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Commission – MIC) และการจัด Roadshow ของสหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเมียนมา (Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry – UMFCCI) ที่จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐยะไข่ โดยคำนึงว่าการสร้างสันติภาพและการพัฒนาจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาจึงได้มุ่งหน้าขับเคลื่อนโครงการ KPSEZ กับจีน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงด้านเส้นทางคมนาคมและขนส่งระหว่างเมียนมากับเครือข่ายในระดับภูมิภาคอย่างแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East West Economic Corridor – EWEC) ที่เป็นโครงข่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีนจะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเจ้าผิวก์อย่างเต็มที่ เนื่องจากจุดอ่อนเชิงยุทธศาสตร์ในทางออกทะเลเพียงด้านเดียวของจีน ดังนั้น การเชื่อมโยงไปยังเมืองเจ้าผิวก์จะถือเป็นการเปิดเส้นทางใหม่เริ่มจากเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ที่ชายแดนของจีนในมณฑลยูนนาน ข้ามไปยังชายแดนเมียนมาที่เมืองมูเซ (Muse) ต่อไปที่เมืองลาโช (Lashio) เชื่อมผ่านเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ไปจนถึงยังเมืองเจ้าผิวก์สู่มหาสมุทรอินเดีย เชื่อมโยงต่อไปยังตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาก็ได้ร่วมมือกับรัฐบาลอินเดียในโครงการ Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project อีกด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงระบบการขนส่งทั้งทางน้ำและทางบก ระหว่างโกลกาตาและท่าเรือทางตะวันออกของอินเดียกับรัฐยะไข่ ซึ่งในภาพรวมแล้ว ทั้งสองโครงการต่างเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงาน และการส่งเสริมสถานะของการเป็น gateway ของเมียนมา [su_spacer size=”20″]
โครงการ KPSEZ ถือเป็นโครงการเนื้อหอมที่ดึงดูดการมีส่วนร่วมจากชาติมหาอำนาจจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยมาค้นพบศักยภาพที่มีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งของ KPSEZ ได้ โดยเมียนมาให้สิทธิพิเศษสำหรับรองรับการลงทุน เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ และ การช่วยเหลือในการเช่าพื้นที่ตั้งโรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาที่เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง http://www.thaiembassy.org/yangon/contents/files/business-20180228-130025-910238.pdf นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการต้องการลงทุนหรือจัดตั้งบริษัทในเมียนมา สามารถศึกษากฎระเบียบด้านการลงทุนได้จาก https://globthailand.com/myanmar_0017/ และ https://globthailand.com/myanmar_0018/ [su_spacer size=”20″]
โดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง