เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลที่มี “ด่านนำเข้าผลไม้” มากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน นอกจากด่านทางบกในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ค้าผลไม้แล้วนั้น “ท่าเรือฝางเฉิงก่าง” ของเมืองฝางเฉิงก่างเป็นด่านนำเข้าผลไม้อีกแห่งที่กำลังทวีความสำคัญของกว่างซี [su_spacer size=”20″]
เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City) เป็นเมืองเดียวของจีนที่มีพรมแดนทางบกและทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้าน (เวียดนาม) จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ประตูแห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ [su_spacer size=”20″]
ท่าเรือฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang Port) เป็น 1 ใน 3 ท่าเรือสำคัญที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ (อ่าวตังเกี๋ย) ของกว่างซี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะด่านนำเข้าสินค้าเทกองที่มีขนาดใหญ่ และเป็นท่าเรือแห่งแรกของกว่างซีที่ได้รับอนุมัติจากส่วนกลางให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทางทะเล [su_spacer size=”20″]
ด้วยศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขยายเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือสำคัญทั่วโลก รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของไทย และการพัฒนางานคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทำให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น ปี 2561 มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 83.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.6% มีการขนถ่ายตู้สินค้า 3.12 แสนTEUs เพิ่มขึ้น 16% [su_spacer size=”20″]
ในส่วนของการเป็น “ด่านท่าเรือเพื่อการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ” พบว่า ท่าเรือฝางเฉิงก่างเริ่มเป็นที่สนใจจากผู้ค้าทางภาคตะวันตกของจีน ล่าสุด มีบริษัทในมหานครฉงชิ่งใช้ด่านฝางเฉิงก่างในการนำเข้าแก้วมังกรจากนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม จำนวน 30 ตู้ (Reefer Container) และขนย้ายตู้ขึ้นขบวนรถไฟเพื่อส่งไปยังมหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นโมเดลการขนส่งในรูปแบบ “ราง+เรือ” ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน [su_spacer size=”20″]
ตามรายงาน บริษัทผู้ค้าผลไม้รายนี้จะหันมาใช้การขนส่งทางเรือเข้าที่ท่าเรือฝางเฉิงก่างเพิ่มมากขึ้นในการขนส่งผลไม้ไปยังมหานครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2562 จะนำเข้าผลไม้จากไทยและเวียดนามผ่านทางเรือแห่งนี้ 1 หมื่นตู้ [su_spacer size=”20″]
ข้อดีของโมเดลนี้ คือ (1) ประหยัดต้นทุนการขนส่งได้ 50% เมื่อเทียบกับทางรถยนต์ (2) ประหยัดเวลา เพราะเมื่อผลไม้ถึงท่าเรือก็สามารถเปลี่ยนถ่ายจากเรือไปทางรถไฟได้โดยตรง (3) สินค้ายังคงคุณภาพ เพราะการขนส่งทางเรือและรถไฟช่วยลดแรงกระแทกได้ดีกว่ารถยนต์ (4) โครงข่ายรถไฟสามารถเชื่อมไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงปักกิ่ง นครเสิ่นหยาง นครเซี่ยงไฮ้ นครจี่หนาน และมหานครฉงชิ่ง [su_spacer size=”20″]
นโยบายการพัฒนาการขนส่งปี 2562 ทางการฝางเฉิงก่างมุ่งพัฒนางานขนส่งห่วงโซ่ความเย็นและการขนส่งสินค้าเทกอง ซึ่งเป็นจุดเด่นของท่าเรือแห่งนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาให้ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นฐานสำคัญของ “เศรษฐกิจห่วงโซ่ความเย็น” และการเป็น “ชุมทางโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น” ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคสำหรับจีนกับอาเซียน [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ เมืองฝางเฉิงก่างจะใช้ประโยชน์จากท่าเรือทะเลและด่านชายแดนให้เป็นพื้นที่รวมศูนย์ผลไม้ สัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ และสินค้าอื่นๆ ส่งเสริมให้ภาคตะวันตกใช้ท่าเรือฝางเฉิงก่างเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าประเภทอื่นๆ รวมทั้งลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการค้าให้เกิดขึ้นสองทาง [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง