การประชุม Euro Financial Week ครั้งที่ 21 ได้ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 12-16 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ณ Congress Center Messe นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี จัดโดยองค์กร dfv Euro Finance Group ซึ่งภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากเยอรมนี ยุโรป และเอเชีย ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างคับคั่ง และมีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตาม เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ของไทยโดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออกไปยังยุโรป ดังประเด็นต่อไปนี้ [su_spacer size=”20″]
ภาวะเศรษฐกิจของยุโรประลอกใหม่ [su_spacer size=”20″]
นาย Andreas G. Scholz ผู้ดำรงตําแหน่ง CEO ของ dfv Euro Finance Group กล่าวว่า แม้วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปได้ผ่านพ้นมา 10 ปีแล้ว และระบบการเงินโลกในขณะนี้มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปยังมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ได้แก่ (1) BREXIT ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้า (2) แนวโน้มสหรัฐฯ ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และ (3) ปัญหาการตั้งงบประมาณขาดดุลจำนวนมากของรัฐบาลอิตาลี ประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 17 ของเศรษฐกิจยุโรป ทั้งนี้ ยุโรปมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเป็นตลาดเดียว (Single Market) และการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร (Banking Union) นอกจากนี้ ยุโรปยังประสบปัญหา “Shadow Banking” หรือการดำเนินธุรกรรมการเงินและการธนาคารนอกระบบที่มีจำนวนมากขึ้นหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้ยากต่อการควบคุมและตรวจสอบ ฉะนั้น มาตรการที่จะใช้ในการควบคุมการดำเนินธุรกรรมการเงินผ่านนวัตกรรมด้าน Cyber Technology จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม [su_spacer size=”20″]
ด้าน ดร. Jörg Kukies รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลเยอรมนีกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการยุโรปและธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิด Hard Brexit ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายด้านภาษีที่จะใช้กับภาคการธนาคาร และการสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ ๆ สำหรับการปล่อยกู้ยืมในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี Brexit ได้สร้างโอกาสการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรปแห่งใหม่ให้กับฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยรัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศสนับสนุนให้เยอรมนีเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งได้รับการจัดอันดับใน Global Financial Center Index 2018 ให้อยู่ในลำดับที่ 10 ของโลก ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถาบันต่างๆ ราว 30 แห่งมาอยู่ที่เยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นภาคการธนาคาร ภาคประกันภัย และภาคการจัดการสินทรัพย์ นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์เยอรมนี (Deutsche Börse) เพื่อผลักดัน Eurex Exchange บริษัทในเครือตลาดหลักทรัพย์ให้เป็น Clearing House แห่งใหม่ของสหภาพยุโรปด้วย โดย Clearing House ของสหราชอาณาจักรจะยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการหักบัญชีให้กับประเทศที่สามโดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้ [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ นาย Luis de Guindos รองประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าวว่า แม้สหภาพยุโรปจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องมาถึง 22 ไตรมาส แต่ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลงของวงจรเศรษฐกิจ (2) การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประกอบกับความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และ (3) ปัญหาการก่อหนี้ใหม่ในระยะยาวทั้งในภาครัฐและเอกชน อาทิ ปัญหาการตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลอิตาลี เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ถึงกระนั้นแล้ว ระหว่างปี ค.ศ. 2008-2017 กองทุนรวมเพื่อการลงทุนมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 170 สะท้อนให้เห็นถึงการไหลเข้าของกระแสเงินสดและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ โดยปี ค.ศ. 2008 สินทรัพย์ของกองทุนรวมมีมูลค่าเพียงร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของภาคการธนาคาร แต่ในปี ค.ศ. 2017 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42 คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านล้านยูโรซึ่งการขยายตัวนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของระบบการเงินในการตอบสนองต่อ shock ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ธนาคารกลางยุโรปจึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการสินทรัพย์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจะดำเนินการภายใต้ macro-prudential framework ซึ่งจะคำนึงถึงทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและเสถียรภาพของสถาบันการเงินอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ เพื่อเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติการเงินในอนาคต รวมถึงในขณะนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงในภาคการลงทุนจากการขาดสภาพคล่อง โดยสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธนาคารกลางยุโรปจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การกำหนดสภาพคล่องขั้นต่ำ และการกำหนดระยะเวลาในการแจ้งไถ่ถอนหุ้นกู้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลและออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการดำเนินธุรกรรมการเงินและการธนาคารนอกระบบ หรือ “Shadow Banking” ด้วย [su_spacer size=”20″]
เสถียรภาพของภาคการเงินและการธนาคารกับวิกฤติการเงินรอบใหม่ [su_spacer size=”20″]
นาย Stephan Engels ตำแหน่ง CFO ของธนาคาร Commerzbank แสดงข้อกังวลต่อภาคการเงินและการธนาคารในขณะนี้ว่าถึงแม้จะมีสภาพคล่องมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงซึ่งยากต่อการคาดการณ์ โดยเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจยุโรปยังประสบปัญหาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศและ Brexit รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่ในเศรษฐกิจมหภาค และการเพิ่มจำนวนของ Shadow Banking [su_spacer size=”20″]
นาย Felix Hufeld ประธาน Federal Financial Supervisory Authority หน่วยงานที่ดูแลและให้คำแนะนำสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น การออกกฎระเบียบและการบังคับใช้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ และการดำเนินนโยบายภายใต้ macro-prudential framework ถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ยืมในภาคการธนาคารและปัญหาหนี้เสีย นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากนวัตกรรมไซเบอร์ด้วย [su_spacer size=”20″]
ในที่ประชุม Euro Financial Week มีความเห็นโดยสรุปว่า ยุโรปยังมีประเด็นที่ท้าทายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ โดยแม้ว่าจะมีความพยายามเคลื่อนย้ายความสำคัญของศูนย์กลางทางการเงินของยุโรปจากสหราชอาณาจักรมาไว้ที่เยอรมนี แต่ประเทศภายในสหภาพยุโรปเองก็ยังมีอุปสรรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในภาพรวมในอนาคต เช่น การเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหนี้เสีย การขาดสภาพคล่องในสกุลเงินยูโรเป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในทางตรงและทางอ้อม ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดนำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญ [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต