รัฐบาลของประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปินเญร่า ได้ประกาศแผนการสร้างเส้นทางพลังงาน (Ruta Energetica – Energy Route) ปี ค.ศ. 2018-2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศจากการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนนอกรูปแบบ (Non-Conventional renewable energy – NCRE) ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ผ่านการปรับปรุงตลาดพลังงานให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และมีการแข่งขันมากขึ้น ตลอดจนให้ความสําคัญกับการส่งเสริมสมรรถภาพบุคลากรและการศึกษาด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายหลักให้ชิลีสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ร้อยละ 20 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2025 และคิดเป็นร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17) [su_spacer size=”20″]
ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลได้กําหนดแนวทางการดําเนินงานไว้ 10 ด้าน ได้แก่ (1) การกระจายโอกาสและลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งพลังงาน (2) การพัฒนาโครงสร้างองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มี ประสิทธิภาพและให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น (3) ลดเวลาการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมลงร้อยละ 25 สําหรับโครงการด้านพลังงานที่ใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน (4) เพิ่มศักยภาพการผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ผลิตได้น้อยกว่า 300 กิโลวัตต์) ให้มากขึ้นอีก 4 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2022 (5) เพิ่มปริมาณรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าขึ้น 10 เท่า (6) พัฒนากฎระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (7) ควบคุมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ฟืน ให้มากขึ้น (8) ออกกฎระเบียบที่จําเป็นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ของชิลี เช่น เหมืองแร่ และการขนส่ง หันมาใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (9) เริ่มกระบวนการ decarbonization ผ่านการลดการใช้พลังงานถ่านหินอย่างเป็นระบบ (10) ฝึกอบรมพนักงานและช่างเทคนิคกว่า 6,000 คน ให้มีความรู้และความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน [su_spacer size=”20″]
ตลาดพลังงานของชิลีประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ส่วน คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า (generation) การส่งกําลังไฟฟ้า (transmission) และการจ่ายกระแสไฟฟ้า ดําเนินการโดยภาคเอกชนทั้งหมด โดยในส่วนของการผลิตไฟฟ้า มีการเปิดเสรีให้เอกชนแข่งขันและตั้งราคาตามกลไกตลาด การส่งกําลังไฟฟ้าให้ภาคเอกชนดําเนินการภายใต้ราคาที่มีการกํากับควบคุม โดยมี National Independent System Operator ภายใต้กระทรวงพลังงานทําหน้าที่ประสานการดําเนินงานระหว่างการผลิตและการส่งกําลังไฟฟ้า ในส่วนของการจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้ภาคเอกชนดําเนินการโดยผูกขาดในราคาที่มีการกํากับควบคุม โดยภาครัฐมีบทบาทเพียงการกําหนดนโยบาย กํากับดูแล และตรวจสอบการดําเนินการของเอกชนเท่านั้น [su_spacer size=”20″]
การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชิลี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า จากร้อยละ 5 ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในปี ค.ศ. 2013 เป็นร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2018 คิดเป็นกําลังการผลิต 4,134 เมกะวัตต์ ในจํานวนนี้ ร้อยละ 10 เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ร้อยละ 6 จากพลังงานลม ร้อยละ 2 จากพลังงานชีวภาพ และร้อยละ 2 จากพลังงานน้ำ (แหล่งผลิตขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 เมกะวัตต์) การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต่ำลงด้วย โดยในการยื่นซองประมูลสัมปทานการผลิตไฟฟ้าเมื่อปี ค.ศ. 2017 ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานหมุนเวียนเฉลี่ย อยู่ที่ 32.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่ต่ำลงถึงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับราคาประมูลเฉลี่ยในปี ค.ศ. 2013 [su_spacer size=”20″]
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้พลังงานหมุนเวียนในชิลีนั้น สืบเนื่องมาจากปัจจัยเกื้อหนุนที่สําคัญคือ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นและต้นทุนการก่อสร้างหรือติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ต่ำลง ผู้เล่นที่มากขึ้นและการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดพลังงาน ตลอดจนศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของชิลี โดยชิลีมีภูมิประเทศที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทะเลทรายอาตากามา (Atacama) ทางตอนเหนือของประเทศ จนถึงภูมิประเทศแบบป่าสนและทะเลสาบตอนกลาง และภูเขาน้ำแข็งตอนใต้สุดของประเทศ นอกจากนี้ สามในห้าเขตที่มีความเข้มข้นของรังสีจากดวงอาทิตย์ (solar radiance) มากที่สุดในโลกก็ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี ทําให้ชิลีสามารถกักเก็บทั้งพลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาการลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทนได้หลากหลายรูปแบบ โดยกระทรวงพลังงานของชิลีประเมินว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่สามารถใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 1,800,000 เมกะวัตต์จากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำรวมกัน ซึ่งคิดเป็น 100 เท่าของกําลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ที่มีอยู่ในชิลีในปัจจุบัน หรือสองเท่าของกําลังการผลิตติดตั้งของทั้งภูมิภาคลาตินอเมริการวมกัน นอกจากนี้ รายงาน Climatescope ซึ่งจัดทําโดยนิตยสาร Bloomberg ได้จัดให้ชิลีเป็นประเทศที่น่าลงทุนในพลังงานสะอาดมากที่สุดอันดับหนึ่งของโลกในปี ค.ศ. 2018 ด้วย [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพและการสนับสนุนด้านนโยบายที่ต่อเนื่องของรัฐบาลทุกชุดของชิลี ชิลีจึงเป็นตลาดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจมากในภูมิภาคลาตินอเมริกาสําหรับเอกชนไทย กอปรกับชิลีเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค รัฐบาลดําเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรี โดยใช้กลไกตลาด มีความโปร่งใสสูงที่สุดในภูมิภาค และมีนโยบายเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเกือบทุกสาขาการผลิตและการบริการ โดยไม่มีการจํากัดขอบเขตการถือหุ้นของนักธุรกิจต่างประเทศในภาคการผลิตและการบริการ กล่าวคือ นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้ 100% และยังไม่มีข้อจํากัดในเรื่องระยะเวลาถือครองทรัพย์สิน (ชิลีได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดเสรีมากที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2019 จัดทําโดย The American Heritage Foundation โดยไทยอยู่อันดับที่ 43) [su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ดี ชิลียังเป็นผู้ใช้ (user) เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ โดยแผงโซล่าร์เกือบทั้งหมด นําเข้าจากจีนซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ ทั้งนี้ ชิลีให้ความสําคัญอย่างมากต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน เพราะชิลีเป็นผู้นําเข้าน้ำมันดิบ (net importer) ที่ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาคขนส่ง ชิลีจึงต้องการเป็นผู้นําด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจังในภูมิภาคลาตินอเมริกา เพื่อลดการนําเข้าน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ (นําเข้าจากอาร์เจนตินาเป็นหลัก โดยชิลีเคยถูกอาร์เจนตินาตัดการส่งแก๊สธรรมชาติในช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 เนื่องจากอุปทานแก๊สในอาร์เจนตนาลดต่ำลงจนไม่พอใช้ในประเทศ ประเด็นนี้เป็นเหตุผลสําคัญที่ชิลีหันมาใส่ใจการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศอย่างจริงจัง) นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ (ทางเหนือ) และลม (ทางใต้) ยังเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในประเทศ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในชิลีจึงเป็นประเด็นหาเสียงของรัฐบาล และสามารถสร้างแต้มต่อทางการเมืองให้รัฐบาลชิลีด้วยเช่นกัน [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก