คุณรู้หรือไม่ว่าไนจีเรียเป็นประเทศที่เคยนำเข้าข้าวไทยมากที่สุดในโลก เนื่องจากข้าวไทยได้เป็นที่นิยม ในตลาด อย่างไรก็ดี โดยที่เศรษฐกิจของไนจีเรียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รัฐบาลไนจีเรียจึงดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้าข้าวจากประเทศไทย เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไนจีเรียซึ่งเคยมีมูลค่าสูงสุดมากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ค่อย ๆ ลดจำนวนลง เหลือเพียง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 และทำให้ไทยตกอันดับจากการเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไนจีเรียจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ลงมาเป็นลำดับที่ 3 รองจากมาเลเซีย (715 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอินโดนีเซีย (310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าหลักในตลาดไนจีเรีย [su_spacer size=”20″]
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าข้าวไทยของไนจีเรียในปัจจุบันยังคงลดลง เนื่องจาก ไนจีเรียสามารถปลูกข้าวได้เอง ในรัฐ Kebbi ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไนเจอร์กับแม่น้ำริม่า (Rima) ที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตข้าวได้มากถึง 2.5 ล้านเมตริกตันในปี ๒๕๖๐ จากผลผลิตทั้งประเทศที่ 5.7 ล้านเมตริกตัน โดยข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดจะถูกส่งไปสีและผลิตเป็นข้าวพาร์บอยล์ (Parboiled rice) ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดในข้าวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ รัฐ Kebbi มีโรงสีทั้งหมด 6 แห่ง โรงสีที่ใหญ่ที่สุด คือ โรงสี Labana Rice ผลิตข้าวพาร์บอยล์ภายใต้ชื่อ Lake Rice ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมือง Lagos (ตลาดผู้บริโภค) กับรัฐ Kebbi (ผู้ปลูก) และรัฐบาลไนจีเรียได้สนับสนุนให้ Lake Rice เป็นยี่ห้อข้าวประจำชาติของประเทศ โรงสีที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่ง คือ โรงสี Wacot Rice Ltd เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการชาวอินเดียกับรัฐบาลรัฐ Kebbi นอกจากนี้ ยังมีโรงสีขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง ซึ่งเป็นการลงทุนของนักธุรกิจจากรัฐอื่นที่เข้ามาแสวงประโยชน์ในธุรกิจข้าว [su_spacer size=”20″]
ในปัจจุบัน ชาวนาในรัฐ Kebbi ทำนาบนพื้นที่โดยเฉลี่ย 1-3 เฮกตาร์ต่อครัวเรือน มีชาวนาทั้งหมดประมาณ 2 แสนครัวเรือน ทำนาบนพื้นที่ทั้งหมด 2 แสนเฮกตาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านไร่) สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง มีผลผลิตในปี 2560 กว่า 2.5 ล้านตัน ทำให้ไนจีเรียสามารถลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ถึงร้อยละ 90 ของข้าวที่บริโภคทั้งหมดในประเทศ และสร้างความมั่นใจให้รัฐบาลไนจีเรียประกาศนโยบายลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศให้อัตราเป็นศูนย์ภายในปี 2562 [su_spacer size=”20″]
ความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลไนจีเรียสนับสนุนและเร่งรัดการเพิ่มผลผลิตข้าวในทุกระดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตอย่างรัฐ Kebbi โดยตั้งเป้าที่จะผลิตข้าวให้ได้ 3.5 ล้านตันภายในปี 2562 รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ อาทิ การชลประทานเพื่อลดความเสี่ยงของภัยแล้ง การอุดหนุนปัจจัยการผลิตในระดับต่าง ๆ การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่ ๆ ทดแทนเครื่องมือการทำนาที่ล้าหลัง รวมทั้งการแสวงหาแหล่งนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรจากแหล่งเดิมอย่างสหรัฐฯ อินเดีย และจีน โดยในส่วนของไทยนั้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายสินค้าไปยังรัฐ Kebbi โดยตรงแล้วเช่นกัน โดยทางการรัฐ Kebbi ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการสั่งซื้อและเตรียมแจกจ่ายเครื่องเกี่ยวข้าวและรถไถนาที่ผลิตจากบริษัทของไทย อาทิ เครื่องเกี่ยวข้าว (reapers) และรถไถนา (power tillers) ของบริษัทรุ่งเพชร ซึ่งเป็นสินค้าที่ตรงกับความต้องการใช้เครื่องจักรในพื้นที่นาขนาดเล็ก และมีความเป็นไปได้ที่จะยังมีการสั่งซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรจากไทยอีกเช่นกัน [su_spacer size=”20″]
จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการดำเนินความร่วมมือด้านเกษตรกับไนจีเรีย จากเดิมที่เน้นการส่งออกสินค้าไปขายแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นการส่งเสริมให้ชาวไนจีเรียรู้จักและใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรของไทย ซึ่งจะต้องดำเนินการในลักษณะบูรณาการ กล่าวคือ ไม่เฉพาะแต่การขายเครื่องมือทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงบริการหลังการขาย และการจัดหาอะไหล่เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ในระยะยาวต่อไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังอาจสนับสนุนการขาย ควบคู่กับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของชาวนา และการส่งเสริมเรียนรู้ศักยภาพของกันและกันผ่านโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา