เวียดนามเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวมากกว่า 3,440 กิโลเมตร และมีทรัพยากรทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมาเป็นลำดับ โดยในทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารทะเลของเวียดนามเติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี และเป็นหนึ่งในห้าประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลชั้นนำของโลก การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จึงกลายมาเป็นเป้าหมายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของเวียดนามให้ความสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 22 – 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers: VASEP) ร่วมกับกระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้จัดงานแสดงสินค้า Vietnam Fisheries International Exhibition หรือ VIETFISH 2018 ซึ่งถือเป็นโอกาสครบรอบ 20 ปีของงานดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ “Asia’s Home of Seafood”
งานแสดงสินค้า VIETFISH ถือเป็นงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและเครื่องจักรเพื่อการประมงที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 16,000 คนต่อปี สำหรับในปีนี้ มีผู้จัดแสดงสินค้าจำนวน 233 ราย รวม 374 คูหา จาก 11 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน (ไต้หวัน) ไทย เดนมาร์ก สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา อินเดีย และเยอรมนี โดยส่วนใหญ่จัดแสดงสินค้าการประมงและอาหารทะเล การบริการ โลจิสติกส์ เคมีภัณฑ์ ตู้แช่แข็ง และเครื่องจักรทางการประมง
งานแสดงสินค้าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในการเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปอาหารทะเลที่สำคัญของโลก ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเวียดนามในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศ และในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เทียบกับปีก่อนหน้า แนวโน้มดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมาย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่วางไว้ในปีนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทขนาดใหญ่ของเวียดนาม อาทิ บริษัท Vinh Wellness สามารถแปรรูปปลาให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้แล้ว อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและคอลลาเจน ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการแปรรูประดับสูงในการผลิต อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเวียดนามยังคงผลิตและแปรรูปสินค้าในขั้นพื้นฐาน ซึ่งยังคงต้องการความรู้เทคโนโลยีในการแปรรูปอีกมากเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลเวียดนามจึงได้ส่งเสริมให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปดำเนินธุรกิจด้านอาหารในประเทศผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การปรับลดภาษีศุลกากรเพื่อให้เอื้อต่อการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและวัตถุดิบจากต่างประเทศ นักลงทุนยังสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเสรีในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับ EU หรือ EVFTA ที่จะบังคับใช้ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของ EU ทำให้ในปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติหลายฝ่าย อาทิ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน ได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารทะเลจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะสั้นนี้ก็คือ สถานการณ์สงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ โดยหากสถานการณ์ดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าทั้งสองฝ่ายจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ เวียดนามซึ่งส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนเป็นตลาดหลักอาจได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากจีนอาจลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเวียดนาม [su_spacer size=”30″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์