ปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธุรกิจการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีมูลค่าการค้าในปี 2560 สูงถึง 29.16 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 11.7 โดยในจำนวนนี้กลุ่มสินค้าและบริการออนไลน์มีสัดส่วนการเติบโตที่มากที่สุด ที่ 21.83 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 24
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและระดับฐานะของประชาชนจีนที่ดีขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ในประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มผู้ซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง E-Commerce ชนบทมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สถิติจากศูนย์ Rural Big Data Center ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า เมื่อปี 2560 E-Commerce ชนบทของจีนมีมูลค่าสูงถึง 1.24 ล้านล้านหยวน แม้จะไม่สูงเท่าพื้นที่ทางภาคตะวันออกและมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.25 ของมูลค่าการค้าออนไลน์ทั้งประเทศ แต่ก็มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 39.1 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง ร้อยละ 55.4 ก็ถือได้ว่าตลาด E-Commerce ชนบทในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับโอกาสให้นักลงทุนและผู้ประกอบการไทยเข้ามามีส่วนแบ่งเช่นกัน
มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นมณฑลที่ใหญ่และเจริญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้รับการอนุมัติให้เป็นหนึ่งในมณฑลนำร่องเขตทดลองการค้าเสรีรุ่นที่ 3 (China (Shaanxi) Pilot Free Trade Zone) เมื่อเดือนเมษายน 2560 ส่งผลให้วิสาหกิจที่ลงทุนในพื้นที่เขตการค้าเสรีมณฑลส่านซี ได้รับสิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษทางภาษีจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการและการขึ้นทะเบียนพาณิชย์ต่างๆ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์สำหรับวิสาหกิจที่ลงทุนในเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน (Xi’an International Trade and Logistics Park: ITL) มีดังนี้
เขต | รายละเอียดสิทธิประโยชน์สำหรับวิสาหกิจ |
เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอาน |
– วิสาหกิจ Fortune 500 และวิสาหกิจ China 500 ที่ลงทุนในเขตฯ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลตอบแทนเมื่อเข้าลงทุนสูงสุด 50 ล้านหยวน – วิสาหกิจที่ลงทุนในพื้นที่และได้รับการพิจารณาให้เป็นวิสาหกิจที่มีผลประกอบการดี มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุด 50 ล้านหยวน – สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและการค้าออนไลน์ข้ามแดน (Cross Border E-Commerce) โดยหากมีการขนส่งหรือลำเลียงสินค้าผ่านขบวนขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ด้วยแล้ว วิสาหกิจมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนตาม โครงสร้าง “หนึ่งเรื่องหนึ่งรายงาน” (一线一报) – อุดหนุนวิสาหกิจในการก่อสร้างนิคมหรือสวนอุตสาหกรรม หากก่อสร้างนิคมหรือสวนอุตสาหกรรมระดับมณฑลขึ้นไป จะได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านสินเชื่อจากธนาคารสูงสุด 50 ล้านหยวน/ปี – สนับสนุนและช่วยเหลือวิสาหกิจเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรมมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือร้อยละ 20 ของเงินลงทุนแต่ไม่เกิน 50 ล้านหยวน – สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร หากได้รับการคัดเลือกเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพจะได้รับเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านหยวน/ราย โดยสามารถรับรางวัลติดต่อกันได้ 3 ปี – วิสาหกิจที่ได้รับรางวัล “เขตทดลองการค้าเสรีเชิงนวัตกรรม” และมีผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับนคร มณฑล หรือประเทศ จะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุด 50 ล้านหยวน |
นอกจาก E-Commerce ทั่วไปแล้ว ยังมีการนำเข้าส่งออกสินค้าจากต่างประเทศผ่านระบบออนไลน์หรือที่นิยมเรียกว่า Cross Border E-Commerce (CBEC) ที่ได้กลายมาเป็นโอกาสใหม่ของ E-Commerce ในจีน โดยมีทั้งรูปแบบของ B2B (Business-to-Business) และ B2C (Business to Consumer) ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ E-Commerce ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกของจีน โดยมีการสนับสนุนให้เปิดคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) รวมไปถึงการประกาศใช้มาตรการสำหรับเขตการค้าเสรีที่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าบางรายการในอัตราที่ต่ำกว่าการนำเข้าแบบปกติ ทำให้สินค้าที่ซื้อผ่าน CBEC มีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกทั่วไป ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปประเทศ (NDRC) ได้ประกาศ 22 เมือง1 ให้เป็น “เมืองแห่งการนำร่องการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” (Cross Border E-Commerce Pilot Zones : CBEC Pilot Zone) ประจำปี 2561โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนบริษัท E-Commerce ในการพัฒนาที่ตั้งและระบบคลังสินค้าในต่างประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมและปลูกฝังการสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง
ในส่วนของ ITL นอกจากการบูรณาการสำนักงานศุลกากรและสำนักงานตรวจสอบและกักกันโรคไว้ด้วยกันแล้ว ยังได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับ CBEC ที่ควบคุมและกำกับดูแลโดยใช้ชื่อว่า บ. Xi’an International Inland Port E-commerce Co., Ltd.: XIIPE (西安国际陆港电子商贸有限公司) ภายใต้ชื่อ U Life 洋货码头 (www.iesroad.com) ปัจจุบัน U Life ใช้ประโยชน์จากการจดทะเบียนก่อตั้งวิสาหกิจภายใน ITL ที่เป็นหนึ่งในโซนพื้นที่ทดลองเขตการค้าเสรีมณฑลส่านซี เรียกว่าได้สิทธิประโยชน์ในด้านภาษีนำเข้าและเข้าถึงระบบกระจายสินค้าได้อย่างเต็มที่
สินค้าที่จำหน่ายบน www.iesroad.com มีทั้งสิ้น 6 กลุ่ม ได้แก่
นอกจากสินค้า 6 กลุ่มข้างต้นแล้ว www.iesroad.com ยังมีการแบ่งสินค้าตามประเทศอีกด้วย โดยสินค้าจากประเทศไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
จากการสำรวจสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนพบเพียงกาแฟขาวแปรรูปของมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสการทำตลาดของสินค้าไทยในกลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรส รวมไปถึงสินค้าหัตถกรรมตกแต่งบ้านยังมีอีกมาก
สินค้าที่ผู้บริโภคจีนนิยมซื้อผ่าน U Life โดยมากเป็นสินค้าในกลุ่มแม่และเด็ก โดยเฉพาะนมผงและเครื่องใช้สำหรับทารกที่ได้รับอานิสงส์จากขบวนขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ซึ่งขนสินค้าของจีนไปขายยังทวีปยุโรป และบรรทุกสินค้าในกลุ่มแม่และเด็กที่ผลิตจากประเทศในทวีปยุโรปกลับเข้ามาจำหน่ายในจีนด้วย
ทั้งนี้ สินค้าที่จำหน่ายใน U Life จะเป็นสินค้าที่ขนส่งมาทีละมากๆ แล้วนำมาเก็บไว้ที่คลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งการนำเข้าสินค้าครั้งละมากๆ นี้จะช่วยลดต้นทุนของสินค้า อย่างไรก็ดี ศูนย์ BIC มีข้อสังเกตว่าแพลตฟอร์มนี้มีสินค้าไม่หลากหลายเท่าที่ควร โดยเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีกระแสตอบรับดี และมียอดจำหน่ายสูง เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการสต๊อกสินค้าจำนวนมากมีปัจจัยในเรื่องของวันหมดอายุของสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ข้อจำกัดของแพลตฟอร์ม www.iesroad.com
ศูนย์ BIC มีข้อสังเกตว่า www.iesroad.com มีข้อจำกัด ดังนี้
(1) สินค้าที่ทำการสั่งซื้อไปแล้วไม่ว่าด้วยรูปแบบ Ship to Order หรือ Stock to Order ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำไปจำหน่ายซ้ำ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจพบอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถสมัครลงทะเบียนในนามวิสาหกิจหรือบริษัทได้ (ซึ่งระบบได้บังคับไว้ตั้งแต่ต้นของการสมัครสมาชิกอยู่แล้ว) ทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการซื้อขายในรูปแบบ B2B2C (Business to Business to Customer)2 ซึ่งในปัจจุบัน มีช่องทางการค้า ของจีน เช่น “Guangdong Pilot Free Trade Zone” ในเขตใหม่หนานซา (Nansha New Area) สามารถทำได้และมีสัดส่วนการค้าแบบ B2B2C มากถึงร้อยละ 95 ของรูปแบบการค้าทั้งหมด
(2) สินค้าบางรายการไม่มีฉลากภาษาจีนกำกับ เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าประเภท Imported with original packageซึ่ง www.iesroad.com แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ผู้ซื้อติดต่อขอรับฉลากกำกับสินค้าหรือคู่มือภาษาจีนได้ที่ระบบบริการลูกค้า (客户服务)
(3) ประเภทของสินค้าไม่หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศในทวีปยุโรปซึ่งขนส่งผ่านฉางอันห้าว จะไม่มีสินค้าสดหรือสินค้าที่มีอายุการจัดเก็บสั้น เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางใช้ระยะเวลาราว 15 วัน
(4) www.iesroad.com ยังมีข้อจำกัดในด้านภาษา โดยให้บริการภาษาจีนเพียงภาษาเดียว อนึ่ง ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถใช้โปรแกรมการแปลอัตโนมัติได้ นอกจากนี้ www.iesroad.com ยังมีแอปพลิเคชั่นในมือถืออีกด้วย
ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะส่งสินค้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม U Life สามารถติดต่อ招商部门 (Investment Promotion Department) โทรศัพท์ (+86) 29-8334-2989 (ภาษาอังกฤษ)
บทส่งท้าย
ประเทศจีนเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเข้าสู่สนามการแข่งขันดังกล่าวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการทำธุรกิจรูปแบบเดิมๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการไทยนอกจากจะต้องสร้างสรรค์สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละมณฑลและควรใช้ช่องทางการกระจายสินค้าที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การค้ายุค E-Commerce ซึ่งจะเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการไทยในการทำตลาดในพื้นที่ตอนในของประเทศจีนได้มากยิ่งขึ้น ศูนย์ BIC มองว่า ในอนาคตแพลตฟอร์มที่คล้ายคลึงกันนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับ CBEC
นอกจากนี้ การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น ผู้บริโภคจึงเกิดพฤติกรรม “ช่างเลือก” เนื่องจากต้องการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในระดับที่สามารถซื้อหาได้ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของจีนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่นพิเศษ และช่องทางการชำระเงินที่รองรับวิถีการใช้จ่ายของชาวจีนที่โดยมากเป็นกระเป๋าเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Wechat Pay หรือ Alipay) ก็จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดจีนตอนในได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน