นาย Edward Yau รัฐมนตรีพาณิชย์ฮ่องกงประเมินหลังจากการหารือกับผู้แทนสมาคมการค้าหลัก ๆ ในฮ่องกงว่า การขึ้นภาษีรอบ 2 ของสหรัฐฯ อาจกระทบการส่งออกจีนที่ผ่านฮ่องกงมูลค่า 130 พันล้าน HKD หรือเกือบครึ่งของการส่งออกจีนไปยังสหรัฐฯ ผ่านฮ่องกง ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 3.5 ของการส่งออกรวมของฮ่องกง โดยการขึ้นภาษีนี้น่าจะส่งผลโดยตรงต่อ GDP ฮ่องกงประมาณร้อยละ 0.0 – 0.2 แต่ในชั้นนี้ยังยากที่จะประเมินผลกระทบระยะยาว อย่างไรก็ดี ฮ่องกงจะใช้มาตรการหลาย ๆ ด้านเพื่อปกป้องสถานะความเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศของฮ่องกงไว้ รวมถึงการเข้าร่วมในฐานะ third party การร้องเรียนต่อการดําเนินการของสหรัฐฯ ภายใต้ WTO ในหลายกรณี นอกจากนี้ยังมีกองทุนมูลค่า 2.5 พันล้าน HKD สําหรับคอยช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึง BUD Fund มูลค่า 1.5 พันล้าน HKD เพื่อช่วยบริษัทฮ่องกงพัฒนาและปรับโครงสร้างการดําเนินธุรกิจของตนและนําสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ได้ขยายสําหรับการเข้าสู่ตลาดอาเซียนด้วย[su_spacer size=”20″]
สมาคมผู้ผลิตจีน ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจสําคัญของฮ่องกงระบุว่าธุรกิจจํานวนมากวิตกว่าการขึ้นภาษีรอบ 2 จะส่งผลให้ผู้นําเข้าสหรัฐฯ หันไปหาตลาดอื่นแทน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในจีนไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะ และสามารถทดแทนได้โดยสินค้าจากที่อื่น จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้ไปหาตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ บรรดาผู้ผลิตของฮ่องกงได้ย้ายฐานโรงงานผลิตของเล่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และพลาสติก ไปยังจีนตั้งแต่เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน แต่ปัจจุบันก็กําลังจะมีการย้ายฐานการผลิตอีกครั้งไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต้นทุนถูกกว่า โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงค่าแรงและค่าที่ดินที่สูงขึ้นในจีน และสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เริ่มมีการย้ายจากจีนไปบ้างแล้วจากต้นทุนที่สูงขึ้นและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น แต่สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การย้ายฐานเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจบางรายมองว่าการย้ายฐานการผลิตไม่ใช่สิ่งที่ทําได้ง่ายและต้องอาศัยเวลา 3 – 6 เดือนเพื่อเตรียมที่ตั้งโรงงานใหม่ เรื่องบุคลากร และการบริหาร แต่การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตฮ่องกงและในจีนหลายรายเริ่มเตรียมการผลิตสำรองในอาเซียนไว้ด้วย โดยไม่ได้ทิ้งการผลิตไปจีนทั้งหมด ทั้งนี้ มาเลเซียและเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมเนื่องจากมีแรงงานที่มีทักษะสูง ภาคธุรกิจจึงมองว่ามาเลเซียอาจจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าครั้งนี้ และคาดว่าการย้ายฐานการผลิตจะทําให้เกิดการเติบโตทางการค้าในมาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และลาว ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จนถึงในหลายปีข้างหน้า [su_spacer size=”20″]
ผลข้างเคียงจากสงครามการค้าอีกประการ ได้แก่ การแข่งขันลดค่าเงิน ซึ่งความผันผวนของค่าเงินจะสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ภาคการผลิตได้มาก ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงควรต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI หรือหุ่นยนต์ มาช่วยมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมฮ่องกงควรปรับยุทธศาสตร์โดยหันมามองตลาดภายในของจีนที่กําลังเติบโตมากขึ้น เช่น ในเขต GBA ที่มีประชากร 68 ล้านคน หรือเซี่ยงไฮ้ที่มีประชากร 20 ล้านคน แทนที่จะมุ่งเน้นแต่การส่งออกอย่างเดิม [su_spacer size=”20″]
ในขณะเดียวกัน การที่ค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับ USD ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และคาดว่าจะอ่อนตัวไปจนถึงสิ้นปี 2562 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าปลีกของฮ่องกงที่กําลังฟื้นตัว โดยเริ่มมีการเติบโตในปี 2500 หลังจากหดตัวลง 2 ปีต่อเนื่องกัน และมีการเติบโตในระดับ 2 หลักตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ ภาคการค้าปลีกของฮ่องกงได้รับผลกระทบโดยตรงจากนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของ นักท่องเที่ยวจากภายนอก อนึ่ง ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2561 เงินหยวนได้อ่อนตัวลงกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ USD และมีความเป็นไปได้ว่าอาจลงไปอยู่ที่ 7 หยวน/USD ภายในสิ้นปี อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเงินหยวนอาจยังอ่อนอยู่ในอนาคต แต่จะไม่อ่อนลงไปกว่าในปัจจุบันมากนัก เนื่องจากจีนคงไม่ปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมากเกินไปภายในเวลาอันสั้น ซึ่งจะเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุน [su_spacer size=”20″]
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง