ประเทศไทยเข้าร่วมงาน BIO World Congress on Industrial Biotechnology 2018 ระหว่างวันที่ 15 – 23 กรกฎาคม 2561 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีชีวภาพของไทย ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และเชิญชวนเอกชนต่างประเทศลงทุนในเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย [su_spacer size=”20″]
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy)” โดยร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย เข้าร่วมงาน BIO world Congress on Industrial Biotechnology 2018 และได้คัดเลือกผู้ประกอบที่มีนวัตกรรมโดดเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพร่วมออกบูธแสดงสินค้าในภายในงาน อาทิ เครื่องตรวจวัดรสชาติความอร่อยของอาหารไทย หรือ E-SenSS วัคซีนจากพืชสร้างภูมิคุ้มกันโลก ลูกอมป้องกันฟันผุ และอาหารเสริมโปรตีนจากไข่ขาว ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยได้ขึ้นเวทีนำเสนอผลงานภายในงานเพื่อสร้างการรับรู้เทคโนโลยีชีวภาพและศักยภาพเศรษฐกิจชีวภาพไทยสู่สายตานานาชาติ นอกจากนี้ ผู้แทนเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของไทยก็ได้นำเสนอในหัวข้อ Global Food Innovation as a Gateway to ASEAN แสดงความพร้อมการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารของภูมิภาคและเชิญชวนเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย[su_spacer size=”20″]
งานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้านเทคโนโลยีชีวภาพรวม 535 หน่วยงาน จาก 32 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างเป็นผู้แทนบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งได้แสดงความสนใจเข้าเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่บูธของประเทศไทยพร้อมแสดงความสนใจลงทุนกับผู้ประกอบการเพื่อการพัฒนาสินค้าและขยายตลาดในสหรัฐฯ อีกด้วย[su_spacer size=”20″]
ทำไมต้องไปสหรัฐฯ
สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุด ในปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ซึ่งไทยมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับสหรัฐฯ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำในด้านดังกล่าว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ไทยจะสามารถเรียนรู้และแสวงหาความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 [su_spacer size=”20″]
โอกาสสินค้านวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพของไทยในสหรัฐฯ
งาน BIO World Congress on Industrial Biotechnology ถือเป็นงานแสดงสินค้าและเป็นเวที
สร้างเครือข่ายสำหรับบริษัทและบุคลากรในแวดวงเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เป็นงานเฉพาะทางที่เน้นนำเสนอความก้าวหน้าและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานได้เข้าถึงและหาคู่ค้ากับผู้ประกอบการต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและอยู่ใน แวดวงเดียวกันได้โดยตรงเพื่อต่อยอดธุรกิจ พร้อมกับได้เรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพจากนานาประเทศที่เข้าร่วมงาน ความต้องการของตลาดสหรัฐฯ วิธีการนำเสนอในสนามระดับโลกของจริง และยังเป็นการทำวิจัยตลาดไปในตัว ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เห็นถึงโอกาสของไทยว่าผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีชีวภาพของไทยมีศักยภาพเพียงพอและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยผู้ประกอบการต่างชาติมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยหากสินค้าของไทยได้มาตรฐานตามที่กำหนด [su_spacer size=”20″]
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าจากเทคโนโลยีชีวภาพไปสหรัฐฯ ควรศึกษาแนวโน้มและความต้องการของตลาดสหรัฐฯ ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยสหรัฐฯ
ให้ความสำคัญต่อประเด็นความปลอดภัย และสินค้าต้องผ่านการรับรองมาตรฐานภายใน คือ ตราสัญลักษณ์ USDA ออกโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการยืนยันว่าสินค้ามีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน
และเป็นสินค้าที่ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพอย่างแท้จริง [su_spacer size=”20″]
เทรนด์ใหม่เศรษฐกิจชีวภาพ
นอกเหนือจากการแสดงสินค้าแล้ว ภายในงานยังมีการสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ
ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และได้เริ่มถูกบรรจุอยู่ในนโยบายการพัฒนาประเทศในหลายภูมิภาคของโลกแล้ว เช่น อเมริกาเหนือ เอเชีย ยุโรป และลาตินอเมริกา เนื่องจากเศรษฐกิจชีวภาพสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพิ่มมูลค่าให้แก่พืชเศรษฐกิจ ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปได้เป็นอย่างดี[su_spacer size=”20″]
แนวโน้มของตลาดเทคโนโลยีชีวภาพที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คือ การส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ทำจากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าและรองเท้าที่ผลิตจากพืช พลาสติกทำจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังแทนการใช้ปิโตเลียม รวมไปถึงด้านเกษตรอาหารที่หันไปส่งเสริมการบริโภคโปรตีนจากพืชและสาหร่ายเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีการทำวิจัยเนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่อาจเป็นแหล่งโปรตีนในอนาคตทดแทนการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์และมีต้นทุนที่ถูกกว่าการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
สหรัฐฯ: หุ้นส่วนของไทยในอนาคต
ไทยเล็งเห็นถึงจุดแข็งด้านเศรษฐกิจชีวภาพของสหรัฐฯ โดยคณะผู้แทนได้เข้าร่วมหารือกับหน่วยงาน Biotechnology Innovation Organization (BIO) ซึ่งเป็นสมาคมด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ให้บริการด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง มีเครือข่ายสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐอเมริกา และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในสหรัฐฯ และนานาประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้จัดงาน BIO World Congress ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย และจากการหารือร่วมกัน BIO เห็นพ้องที่จะพิจารณาการจัดงานในลักษณะนี้นอกภูมิภาค โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการจัดงานดังกล่าวได้ [su_spacer size=”20″]
การยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพของไทยจำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งคณะผู้แทนไทยได้มีโอกาสพบหารือกับบริษัท Lux research ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการการวิจัยและคำปรึกษาที่มีความสนใจจะร่วมมือกับไทยโดยเฉพาะกับเมืองนวัตกรรมอาหารของไทย นอกจากนี้ คณะยังได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยงานที่เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (incubator/ accelerator) ที่สำคัญของเมืองฟิลาเดลเฟีย ๓ แห่ง ได้แก่ StartupPHL, Pennovation และ the Science Center เพื่อเรียนรู้การดำเนินงาน โครงสร้าง ตลอดจนโปรแกรมและโครงการต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยงานได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ รวมทั้งกลุ่ม startup โดยไทยตั้งเป้านำความรู้ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจภายใต้การดูแลของหน่วยงานไทย พร้อมเสนอความร่วมมือระดับหน่วยงานระหว่างกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทั้งด้านการจัดการและการจัดหลักสูตรการอบรมผู้ประกอบการ อาทิ Pennovation ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะภายใต้ University of Pennsylvania ที่สามารถนำรูปแบบมาปรับใช้กับไทยได้ โดยมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพของไทยสามารถจัดตั้งศูนย์ในลักษณะดังกล่าวเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการเกิด startup ในประเทศ และจัดทำโครงการที่ช่วยสนับสนุนงานวิจัยของนักศึกษาไทยให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถวางขายในตลาดได้ [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์และเชิญชวน Science Center เข้าร่วมงานในประเทศไทย อาทิ งาน Innovation Thailand Week ซึ่งจะเป็นงานนวัตกรรมที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมแบบรอบด้าน และงาน Startup Thailand ที่รวบรวมสตาร์ทอัพกว่า 400 ราย มาอยู่ในงานเดียวกัน เพื่อการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ โดยจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ต่อไป [su_spacer size=”20″]
บูรณาการความร่วมมือเพื่อ “การทูตเชิงเศรษฐกิจ”
การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ นอกจากจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยกับหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ แล้ว ยังสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ โดยกระทรวงการต่างประเทศดำเนินบทบาทเป็นตัวเชื่อมต่อและผลักดันความร่วมมือให้เกิดประโยชน์ระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศ ผ่านการประสานงานระหว่างสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของไทยที่มีอยู่ทั่วโลก ตามเป้าหมาย “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านต่างประเทศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ด้วยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อันจะขับเคลื่อนการค้าการลงทุนของไทยต่อไป [su_spacer size=”20″]