“อินเดีย” ดินแดนที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ หนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียที่มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน และมีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน ในยุคของรัฐบาลนายนเรนทร โมดี มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ เพื่อลดกำแพงภาษีทางการค้าภายในประเทศ การเร่งผลักดันโครงการที่สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่า รายได้ประชากรอินเดียต่อคนในปี ค.ศ. 2016 สูงขึ้นถึงร้อยละ 70 จากเมื่อปี ค.ศ. 2007 และมีแนวโน้มสูงขึ้นแปรผันตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจอินเดีย[su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์อีกว่า ในปี 2561-2562 เศรษฐกิจของอินเดียจะเติบโตถึงร้อยละ 7.4 จากเดิมที่โตเพียงร้อยละ 6.7 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการปฏิรูปโครงสร้างที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ประกอบกับนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ โดยเฉพาะใน “รัฐเบงกอลตะวันตก” ที่เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่น่าสนใจและมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ[su_spacer size=”20″]
รัฐเบงกอลตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงอุตสาหกรรมเมืองอมฤตสร – เมืองกัลกัตตา (Amritsar-Kolkata Industrial Corridor Project – AKIC) ซึ่งพาดผ่าน 7 รัฐ และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของอินเดีย มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในรัฐอย่างมีนัยสําคัญ มีแรงงานที่มีศักยภาพที่พร้อมรับการฝึกอบรม และนิยมทํางานในระยะยาวโดยไม่ย้ายถิ่นฐานหรือย้ายงานบ่อย นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง โดยมีโครงข่ายถนนหลวงภายในรัฐหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของอินเดีย มีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติกัลกัตตา และ Bagdogra และมีท่าเรือถึง 4 แห่ง ประกอบกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตก ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลส่วนกลาง โดยเฉพาะแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้า ซึ่งแต่เดิมนักลงทุนต้องอาศัยการขนส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือน้ำลึก จากรัฐอื่น ๆ อาทิ เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฎระ[su_spacer size=”20″]
นอกเหนือไปจากความพยายามของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว อินเดียยังมีโครงการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนด้วย อาทิ การพัฒนา Industrial Park ให้แก่ธุรกิจในสาขาต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจง อาทิ Poly Park, Integrated Chemical Park, Garment Park, Food Park, IT Park และ Gems and Jewelry Park ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านการจัดสรรที่ดินให้แก่นักลงทุนทั้งในรูปแบบการเช่าระยะยาวในราคาต่ำ หรือขายให้เอกชนถือครอง[su_spacer size=”20″]
ที่ผ่านมา รัฐบาลรัฐเบงกอลตะวันตกได้ดําเนินการพัฒนาให้รัฐมีศักยภาพโดดเด่นอย่างจริงจังเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเห็นได้จากการได้รับการจัดอันดับให้เป็นรัฐที่มีความง่ายในการดำเนินธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business เป็นลําดับที่ 1 ของอินเดีย นอกจากนี้ การจัดกิจกรรม Bengal Global Business Summit (BGBS) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนภายในรัฐอย่างเป็นรูปธรรม [su_spacer size=”20″]
จากเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น รัฐเบงกอลตะวันตกจึงเป็นอีกรัฐหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติไม่เฉพาะแต่ในสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้างเท่านั้น แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อตั้งสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังเปิดโอกาสให้แก่การลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี สิ่งทอ อาหาร สารสนเทศ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ การมีทำเลที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงการค้าสู่ภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถรองรับการขยายตัวของโครงการความเชื่อมโยงในกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง ๗ ประเทศในอ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC และโครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการความเชื่อมโยง บังกลาเทศ–ภูฏาน-อินเดีย-เนปาล ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตในรัฐเบงกอลตะวันตกสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานกับประเทศอื่น ๆ ในอ่าวเบงกอลได้อีกด้วย[su_spacer size=”20″]
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐเบงกอลตะวันตกจะมีพัฒนาการที่ดีในหลาย ๆ ด้าน แต่นักลงทุนที่สนใจยังคงต้องคำนึงถึงปัญหาต่าง ๆ อาทิ การได้รับการจัดสรรพื้นที่สำหรับการลงทุนที่ห่างไกลจากชุมชน และขาดแคลนสาธารณูปโภคที่จำเป็น และปัญหากลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นด้วย แต่อย่างไรก็ดี นับเป็นที่น่ายินดีว่า ที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวได้รับการหยิบยกขึ้นในหลายโอกาสจากผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ที่มีการลงทุนในพื้นที่ จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาล เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอนาคต[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี