เบื้องหลังความสำเร็จในการผลักดันการใช้ EV ของนอร์เวย์: ความลงตัวของนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างแรงจูงใจในด้านเศรษฐกิจ
เรื่องความสำเร็จในการผลักดัน EV ของนอร์เวย์นั้น ต้องถือว่าเป็นความสำเร็จในการวางแผนที่สอดรับของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการสร้างแรงจูงใจในด้านเศรษฐกิจที่ลงตัว นอร์เวย์อาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกก็ได้ที่สามารถดำเนินนโยบายการใช้ EV หมดทั่วประเทศได้ในขณะนี้ แล้วอะไรคือคำตอบ หลายคนอาจจะเริ่มคิดถึงนโยบายการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้คนหันมาใช้ EV ซึ่งค่อนข้างจะเป็นคำตอบที่ปลายเหตุ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด ความสำเร็จที่เป็นเงื่อนไขแรกสุดอยู่ที่โครงสร้างพลังงานของนอร์เวย์ครับ[su_spacer size=”20″]
[su_spacer size=”20″]
จากข้อมูลโครงสร้างด้านพลังงานของนอร์เวย์จาก IEA ในปี ค.ศ. 2016 จะเห็นวิสัยทัศน์ของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของนอร์เวย์กล่าวคือ ในแผนภูมิแท่งจะเห็นว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับพลังงานน้ำ โดยนอร์เวย์เป็นผู้ส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก และเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก แต่เมื่อดูที่โครงสร้างการใช้พลังงานภายในประเทศ นอร์เวย์เลือกที่จะใช้พลังงานน้ำเป็นสัดส่วนที่สูสีกับการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยในการผลิตกระแสไฟฟ้าในนอร์เวย์นั้น ใช้พลังงานน้ำถึงร้อยละ 97 ทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศที่สามารถแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ[su_spacer size=”20″]
[su_spacer size=”20″]
จากกราฟของ IEA จะเห็นว่า แม้ว่าจำนวนประชากรและ GDP ของประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่การปล่อย CO2 นั้นถูกจำกัดและไม่ได้เพิ่มขึ้นเกินระดับเมื่อก่อนปี ค.ศ. 2000[su_spacer size=”20″]
จากข้อมูลของ The Norwegian EV Association การกำหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาด ทำให้ถ้าในวันนี้หากรถยนต์บนถนนทั้งหมดจำนวน 3 ล้านคัน เปลี่ยนเป็น EV จะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำเพียงร้อยละ 5-6 ของพลังงานน้ำที่ผลิตได้ในแต่ละปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของ IDTechEx ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ให้ข้อมูลด้านธุรกิจ พบว่าถ้าชาวจีนซื้อรถ EV จำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญจากวันนี้ไปอีก 5 ปี จะเพิ่มภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ฟังดูตลกถ้าคิดว่าการใช้ EV ที่เหมือนเป็นการแก้ปัญหากลับสร้างปัญหา) เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าของจีนส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพและยังใช้พลังงานจากถ่านหินอยู่[su_spacer size=”20″]
ซึ่งข้อได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพลังงานที่มีมากเกินพอและมาจากพลังงานน้ำทำให้นอร์เวย์สามารถดำเนินนโยบายผลักดัน EV ได้อย่างเต็มที่ โดยภาครัฐของนอร์เวย์ได้ออกมาตรการส่งเสริม EV อยู่บน 3 หลักการสำคัญได้แก่ EV ต้องราคาถูก (Cheap to buy) ค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อเลือก EV (Cheap to use) และสะดวกเมื่อใช้ (Convenient to use)[su_spacer size=”20″]
EV ต้องราคาถูก (Cheap to buy) รัฐบาลนอร์เวย์กำหนดนโยบายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรถยนตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในราคาที่สูง ในอัตราร้อยละ 25 และเก็บค่าธรรมเนียมที่จ่ายครั้งแรกครั้งเดียวโดยคำนวณจากน้ำหนักของรถยนต์ การปล่อยมลพิษ (CO2 และ NOX) และขนาดของเครื่องยนต์ ในขณะที่ไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าธรรมเนียมสำหรับ EV ทำให้การซื้อ EV ประหยัดลงอย่างน้อยประมาณ 10,000 ยูโร (ประมาณ 400,000 บาท) ยกตัวอย่างราคารถยนต์ให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ในนอร์เวย์ รถยนต์รุ่น VW Golf ที่ใช้น้ำมันจะราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ยูโร ในขณะที่ถ้าเป็นรุ่น VW E-Golf ราคาอยู่ที่ประมาณ 28,500 ยูโร ในขณะที่ในสวีเดน รถยนต์รุ่น VW Golf ที่ใช้น้ำมันจะราคาอยู่ที่ประมาณ 20,000 ยูโร และ VW E-Golf ราคาอยู่ที่ประมาณ 41,200 ยูโร[su_spacer size=”20″]
ค่าใช้จ่ายถูกลงเมื่อเลือก EV (Cheap to use) การใช้ EV จะทำให้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ในการใช้ถนน เช่น ได้รับการยกเว้นค่าผ่านทาง (Toll) ซึ่งในออสโลตกประมาณ 3-5 ยูโร และในทางหลวงและอุโมงค์ซึ่งอาจแพงถึง 20 ยูโร ได้รับการยกเว้นค่าจอดรถ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2-5 ยูโร ต่อชั่วโมง สามารถชาร์จไฟได้ฟรี ซึ่งปกติจะตกประมาณ 3-9 ยูโร ต่อครั้ง สามารถขับในเส้นทางรถโดยสารและแท็กซี่ได้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้ 30 นาที – 1 ชม. ต่อวัน ได้รับการยกเว้นการขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามฝั่ง ซึ่งตกประมาณเที่ยวละ 12-24 ยูโร และได้รับการยกเว้นค่าใช้อุโมงค์ซึ่งตกประมาณ เที่ยวละ 12-24 ยูโร เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
สะดวกเมื่อใช้ (Convenient to use) ปัจจุบันเทศบาลเมืองออสโลเป็นเจ้าของจุดชาร์จไฟ EV ที่ใหญ่ที่สุดในนอร์เวย์ (และเป็นอันดับต้นๆ ในระดับโลก) โดยเป็นเจ้าของทั้งหมด 1,300 จุดที่อยู่ตามถนน โดยที่ชาร์จไฟสาธารณะทั้งหมดในออสโลมีทั้งหมดเกือบ 2,000 จุด และจำนวนจุดชาร์จจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี ค.ศ. 2018-2020 ซึ่งการมีจุดชาร์จที่สะดวก เข้าถึงง่าย นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ EV แล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสาธารณชนต่อการใช้ EV อีกด้วย[su_spacer size=”20″]
ออสโลในอดีต | ออสโลในปัจจุบัน |
นอกจากสร้างแรงจูงใจจากสามหลักการข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังได้เตรียมออกนโยบายเพื่อผลักดันการใช้ EV ได้แก่ การสั่งห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในปี ค.ศ. 2025 การสั่งห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเป็นการชั่วคราวในวันที่มีมลพิษมาก ในปี ค.ศ. 2017 นโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ (Demand for green freight deliveries in public procurements) ในปี ค.ศ. 2018 นโยบายรถแท็กซี่ปราศจากมลพิษ ในปี ค.ศ. 2024 นโยบายการเพิ่มการเก็บภาษีลดความแออัด (Congestion Tax) อีกร้อยละ 74 สำหรับรถยนต์ที่ไม่ใช่ EV ในปี ค.ศ. 2017 นโยบายกำหนดเขตปราศจากมลพิษในปี ค.ศ. 2019 และการด่านเก็บค่าผ่านทางเพิ่มจาก 22 เป็น 73 จุด เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
ด้วยการวางแผนที่ดีตั้งแต่การวางโครงสร้างด้านพลังงาน จนถึงการออกกฎ และมาตรการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ทำให้นอร์เวย์สามารถที่จะผลักดันนโยบายการส่งเสริม EV ที่เหมือนมาจากโลกอนาคตให้เกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน และยากที่ประเทศอื่นๆ จะตามได้ทัน[su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะสามารถประสบความสำเร็จในการผลักดันการใช้ EV เช่นเดียวกับนอร์เวย์ได้หรือไม่ อะไรคือข้อจำกัดของเรา มาติดตามกันในตอนต่อไปนะครับ[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล