อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยปัจจัยหนึ่ง ที่สำคัญซึ่งทำให้อินเดียโดดเด่นก็คือ การมีประชากรมากกว่า 1.2 พันล้านคน ซึ่งจากการศึกษาล่าสุดที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมุมไบ พบว่า ในปี ค.ศ. 2016 อินเดียมีประชากรที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อเฉลี่ยตั้งแต่ประมาณ 2 – 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน มากถึง 600 ล้านคน ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีศักยภาพในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังพบว่า อินเดียมีกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาวที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก[su_spacer size=”20″]
ด้วยศักยภาพที่กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลของนายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย จึงได้กำหนดงบประมาณประจำปี 2018-2019 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจากการแถลงงบประมาณประจำปี 2018-2019 ต่อรัฐสภา อินเดียจัดทำงบประมาณไว้จำนวนทั้งสิ้น 21.57 ล้านล้านรูปี หรือประมาณ 10.68 ล้านล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาประเทศในทุกกลุ่มสาขา ได้แก่ การเกษตร การศึกษา การจ้างงาน การเงิน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีสาขาที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามความเคลื่อนไหว 3 กลุ่ม ได้แก่
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง ภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศ ผ่านโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟฟ้า ถนนทางหลวง และการขยายท่าอากาศยาน ซึ่งในอนาคต จะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศได้ตั้งแต่เมียนมาไปยังรัฐอัสสัมทางภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของอินเดียที่ผ่านมา มีบริษัทของไทยไปประกอบธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ในอินเดียแล้ว ได้แก่ ท่าอากาศยาน รถไฟใต้ดินในกรุงนิวเดลี และนครมุมไบ เป็นต้น การจัดทำงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงการเชื่อมโยงในประเทศจึงจะเป็นโอกาสแก่บริษัทขนาดใหญ่ของไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดียได้ต่อไป
2.การพัฒนาภาคการเกษตรและเศรษฐกิจชนบท ผ่านโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการหาตลาดสำหรับกระจายสินค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาคุณภาพ
การขนส่งสินค้าเกษตร และการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มงบประมาณในกระทรวงแปรรูปอาหาร (Ministry of Food Processing) มากถึงสองเท่า เพื่อพัฒนาให้อินเดียเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก
สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านการเกษตรก็คือ การอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลให้แก่กระทรวงแปรรูปอาหาร ซึ่งจะทำให้อินเดียกลายมาเป็นคู่แข่งของนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของไทยที่น่ากลัวอีกประเทศหนึ่ง
3.การพัฒนาคุณภาพของแรงงานในประเทศ คาดการณ์กันว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า อินเดียมีแรงงานหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ย 30 ปี) ประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่อินเดียจะใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดสู่ การเป็น New India ในปี ค.ศ. 2022 โดยอินเดียจะผลิตแรงงานคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพแรงงาน การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในระดับฐานราก ทั้งนี้ เพื่อผลิตสนองตอบต่อการพัฒนาประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
แม้ว่าการดำเนินการตามแผนข้างต้นให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจะยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร แต่การวางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เศรษฐกิจฐานราก และ ความเป็นอยู่ของประชาชน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของอินเดีย และแนวโน้มการค้าและการลงทุนของไทยในอินเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการของไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยจึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้สามารถศึกษาและกำหนดกลยุทธการดำเนินธุรกิจของตนให้มีความเหมาะสม และที่สำคัญ สามารถฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที