เบียร์ เครื่องดื่มยอดนิยมของชาวเวียดนาม
เมื่อพูดถึงเวียดนาม นอกจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด อุตสาหกรรมการผลิตที่รุ่งเรือง กำลังการบริโภคและชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ยังต้องพูดถึงวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มเบียร์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ชาวเวียดนามบริโภคเบียร์ถึง 4.1 พันล้านลิตร หรือราว 43 ลิตรต่อ 1 คน นับเป็นลำดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย ตามหลังญี่ปุ่นและจีน และมียอดขายทั้งหมดกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ว่าในปี 2563 อัตราการบริโภคเบียร์ของชาวเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 พันล้านลิตร เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8/ปี อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนชั้นกลางซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 94 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุน เมื่อไม่นานมานี้บริษัทผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Thai Beverage ได้เข้าซื้อหุ้นมูลค่า 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัท Sabeco ผู้ผลิตเบียร์ยอดนิยมในภาคใต้ของเวียดนามอย่างเบียร์ Saigon และเบียร์ 333 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเบียร์ภายในประเทศกว่าร้อยละ 41 [su_spacer size=”20″]
ด้วยวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ของชาวเวียดนามที่ยาวนาน ประกอบกับความอยากรู้อยากลองและรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคคนเวียดนามรุ่นใหม่ที่ต้องการดื่มเบียร์คุณภาพมากขึ้น ตลอดจนเงื่อนไขด้านการจัดตั้งธุรกิจและตลาดที่เปิดกว้างให้ผู้ผลิตเบียร์ทั้งในและต่างประเทศสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองที่สุดภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวงทางเศรษฐกิจอย่างนครโฮจิมินห์ คือธุรกิจการผลิต “เบียร์คราฟท์” (เบียร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเล็กและใช้ขั้นตอนการผลิตแบบดั้งเดิม จึงมีคุณภาพสูงและรสชาติที่แปลกใหม่) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่เป็นการบุกเบิกของผู้ประกอบการชาวตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ และเริ่มมีผู้ประกอบการเวียดนามหันมาดำเนินธุรกิจดังกล่าวมากขึ้น[su_spacer size=”20″]
แท้ที่จริงแล้ว การดื่ม “เบียร์ทำมือหรือเบียร์คราฟท์” อยู่ในสายเลือดของชาวเวียดนามมายาวนานหากนักท่องเที่ยวรายใดมีโอกาสเดินทางมายังเวียดนามเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครโฮจิมินห์ จะได้พบเห็นเบียร์คราฟท์ท้องถิ่นที่เรียกกันว่าเบียร์เฮย (Bia Hoi) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของราคาที่ขายกันเพียงแก้วละ 7 บาท อย่างไรก็ตาม ในภายหลังได้รับความนิยมน้อยลงในหมู่ผู้บริโภคเนื่องจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยเพราะมี สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย[su_spacer size=”20″]
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้นิยมดื่มเบียร์คราฟท์โดยสถาบันการศึกษาของนคร (Ho Chi Minh City University of Education) ชี้ว่า ชาวเวียดนามรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเห็นว่าการดื่มถือเป็นการรักษามารยาททางสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างและรักษาเครือข่ายทางสังคมและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยู่ในสังคมเวียดนามมาเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ ชาวเวียดนามต่างนิยมดื่มเบียร์ในทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง หรือเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจเบียร์คราฟท์ในเวียดนามภาคใต้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
โฮจิมินห์ เมืองหลวงของ “เบียร์คราฟท์” แห่งอาเซียน
สำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN และวารสาร Journal. Beer ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน นครโฮจิมินห์ได้สถาปนาตนเองเป็นดั่งเมืองหลวงของผู้ชื่นชอบดื่มเบียร์คราฟท์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ในนครมากกว่า 20 ราย และสามารถพบเห็นเบียร์คราฟท์ในร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนอย่างแพร่หลายทั่วทุกแห่งในนครโฮจิมินห์ รวมถึงนครดานัง ซึ่งเป็นเมืองสำคัญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของเวียดนามอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเบียร์คราฟท์สดประเภท IPA, Stout, Blonde, Pilsner, Wheat Ale, Cider และอื่นๆ กว่า 20 ชนิด ตลอดจนเบียร์คราฟท์กระป๋อง/ขวดที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก[su_spacer size=”20″]
เมื่อพูดถึงเรื่องราคา เบียร์คราฟท์ในเวียดนามตั้งราคาขายไว้เพียง 80,000 – 100,000 ด่ง (120 – 150 บาท)/ ไพนท์ ซึ่งต่ำกว่าไทยเกือบ 2 เท่า เนื่องจากไม่ต้องผลิตในต่างประเทศและนำเข้ากลับมาขายใหม่เหมือนผู้ประกอบการไทย และมีรสชาติที่ผ่านการปรุงแต่งมาเป็นอย่างดี โดยร้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาทิ Pasteur Brewing Street, Heart Of Darkness, BiaCraft, Winking Seal และ East West Brewing[su_spacer size=”20″]
จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์ พบว่า เจ้าของร้านเบียร์คราฟท์ส่วนใหญ่ในนครโฮจิมินห์จะเป็นชาวต่างชาติหรือเป็นชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่กลับมาดำเนินธุรกิจในเวียดนามเกือบทั้งสิ้น เนื่องจากมีประสบการณ์การผลิตเบียร์คราฟท์ในประเทศของตนมาแล้ว และยังมีเงินทุนตั้งต้นจำนวนหนึ่ง โดยแต่ละร้านใช้เงินลงทุนประมาณหลักแสนถึงล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณความสามารถในการผลิตของร้าน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่สามารถหาได้ในประเทศเวียดนาม และบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ในเวียดนามมีเครือข่ายที่แนบแน่นระหว่างกัน และใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่นและชาวต่างชาติ ตลอดจนภาคเอกชนมีการจัดกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ Sai Gon Craft Beer Festival ซึ่งจัดเป็นประจำทุก 3 – 4 เดือน ซึ่งในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน กิจกรรมทัวร์จิบเบียร์คราฟท์ (1 Day Trip Beer Tour) ในนครโฮจิมินห์ และกิจกรรมการเยี่ยมชมโรงงานการผลิตเบียร์คราฟท์ เป็นต้น
โอกาสของผู้ผลิตเบียร์ไทย: นครโฮจิมินห์ประตูสู่ตลาด 94 ล้านคน และฐานในการผลิตเพื่อส่งออก
จากการสัมภาษณ์เจ้าของร้านเบียร์คราฟท์หลาย ๆ ท่านในนครโฮจิมินห์ ทุกรายต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำธุรกิจเบียร์คราฟท์ในเวียดนามมีขั้นตอนการจัดตั้งธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก และตลาดยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากผู้ผลิตเบียร์ทุกรายต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ได้ลองดื่มเบียร์คราฟท์แล้ว ต่างต้องกลับมาดื่มอีก 5-6 ครั้ง/สัปดาห์ และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่สามารถกลับไปดื่มเบียร์แบบธรรมดาได้อีก[su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการผลิตในหลายประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย อาทิ Heart Of Darkness และ Pasteur Brewing Street ยังได้ส่งออกผลิตภัณฑ์เบียร์คราฟท์ไปขายในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงไทยอีกด้วย และเบียร์คราฟท์ไทยหลาย ๆ เจ้า เช่น ลำซิ่ง และโกลเด้น คอยน์ ยังได้จ้างให้ผู้ผลิตชาวเวียดนามผลิตเบียร์คราฟท์บรรจุขวด/ บรรจุถัง และส่งออกกลับมาขายในประเทศไทย เนื่องจากในประเทศไทยยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังไม่เปิดกว้างให้ผู้ผลิตรายย่อยที่มีปริมาณการผลิตต่อปีน้อย สามารถผลิตเบียร์คราฟท์ได้อย่างถูกกฎหมาย[su_spacer size=”20″]
อุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ในภาคใต้ของเวียดนามจึงยังมีโอกาสอีกมากถึงสองเด้ง กล่าวคือทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศและฐานในการส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้วยผู้บริโภคชนชั้นกลางเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนต้นทุนที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ และกฎหมายที่เปิดกว้าง น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมและตอบโจทย์ผู้ที่อยากริเริ่มธุรกิจเบียร์คราฟท์/ ผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ในประเทศไทยที่กำลังมองหาแหล่งการผลิตที่มีศักยภาพและตลาดนักดื่มที่มีความคุ้นเคย นอกจากนี้ ยังมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ เช่น ไทย สปป. ลาว จีน และประเทศตะวันตกผ่านทางทะเล จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการเจาะตลาดเบียร์คราฟท์เวียดนาม การจ้างผลิตในลักษณะ OEM หรือการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตภายในเวียดนามเพื่อขายภายในประเทศและการส่งออก[su_spacer size=”20″]
ข้อมูลน่ารู้เพิ่มเติม
สมาคม Brewers Association ของสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความของ คราฟท์เบียร์ (Craft Beer) ไว้ 3 ข้อหลัก ๆ คือ (1) ต้องเป็นโรงเบียร์ที่เป็นอิสระจากผู้ผลิตรายใหญ่ (2) ผลผลิตไม่เกิน 6 ล้านบาร์เรลต่อปี และ (3) ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด เช่น มอลต์ บาร์เลย์ ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน แต่ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้รสชาติดีขึ้นเท่านั้น[su_spacer size=”20″]
กฎหมายการผลิตเบียร์คราฟท์ในไทย vs. เวียดนาม
ไทย
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์ นอกจากจะมีเงื่อนไขของสัญชาติบริษัททั่วไปที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยเกินร้อยละ 51 ยังกำหนดให้ผู้ต้องการผลิตและจำหน่ายเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกำลังการผลิต หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ต้องผลิตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านลิตร แต่ถ้าเป็นโรงงานขนาดเล็กผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตต้องผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี และต้นทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท[su_spacer size=”20″]
เวียดนาม
กฎหมายมาตรา 105/2017/ND-CP ลงวันที่ 14 กันยายน 2560 เกี่ยวกับการผลิตและขายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ระบุว่า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ต้องลงทะเบียนการค้าอย่างถูกกฎหมาย และได้รับการรับรองจากทางและใบอนุญาตการลงทุนจากสำนักงานการวางแผนและการลงทุนประจำจังหวัดนั้นๆ ตลอดจนใบตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เบียร์จากกรมตรวจสอบคุณภาพสินค้า (คล้ายองค์การอาหารและยา) ซึ่งนักลงทุนจะเป็นชาวเวียดนามหรือชาวต่างชาติ และจะผลิตในปริมาณเท่าใดก็ได้ ซึ่งหากมีความประสงค์ขายสินค้าไปในร้านอื่นๆ ก็จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการกระจายสินค้า หรือต้องมีใบอนุญาตการการนำเข้าเบียร์จากต่างประเทศในกรณีที่ต้องการนำเข้ามาขายภายในประเทศเวียดนาม[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในนครโฮจิมินห์
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์