เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ศูนย์โรคหัวใจแห่งชาติ (National Heart Disease Centre – NHCS) สิงคโปร์ ก่อตั้งศูนย์วิจัยภาพถ่ายระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Cardiovascular Systems Imaging and Artificial Intelligence – CVS.AI) อย่างเป็นทางการ และเป็นศูนย์วิจัยภาพถ่ายระบบหัวใจแบบมีบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) การใช้เครื่องเอกซเรย์ CT scan และการวิธีสร้างภาพทางนิวเคลียร์ (nuclear image) เพื่อตรวจจับและวินิจฉัยแนวโน้มของโรคหัวใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวยังช่วยวิเคราะห์และตรวจจับโครงสร้างการทำงานของหัวใจ เช่น ตรวจจับคราบไขมันบนผนังหลอดเลือดแดงและกล้ามเนื้อหัวใจ
หัวหน้าศูนย์ CVS.AI ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า AI สามารถตรวจจับและเข้าใจข้อมูลที่ซับซ้อนได้หลายมิติมากกว่าการวิเคราะห์โดยมนุษย์ และช่วยเพิ่มความสามารถในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งลดจำนวนบุคลากรและเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์ภาพแสกนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายหัวใจความละเอียดระดับสูงสุด และระบุการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยสายตามนุษย์อย่างละเอียดอ่อนภายในไม่กี่นาที
ซึ่งดีกว่าระบบปฏิบัติการแบบเก่าที่ต้องใช้เวลา 2 – 4 ชั่วโมง
ผู้อำนวยการด้านการแพทย์แห่ง NHCS คาดหวังว่า เทคโนโลยี AI กับการพัฒนาการถ่ายภาพระบบหัวใจนี้จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วย และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ซึ่งในปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการประยุกต์ใช้ AI ในการวินิจฉัยและทำนายโรคหัวใจในหลายประเทศ อาทิ 1) Omron Healthcare และมหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่นร่วมมือกันศึกษาการใช้ AI ในการวินิจฉัยและทำนายโรคหัวใจเบื้องต้น และ 2) บริษัท Artrya ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ของออสเตรเลียเปิดตัว Salix โดยใช้ AI กับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย ทั้งนี้ เครื่องมือวินิจฉัยตรวจจับและประเมินคราบไขมันจากหลอดเลือดจาก CT scan ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ในออสเตรเลียแล้ว
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 ระบุว่า ปัจจุบันมีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน จากสถิติปี 2559 พบว่า ในไทยมีสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินจำนวน 458 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงกว่าสหรัฐอเมริกา (ผู้ป่วย 421 คนต่อประชากร 100,000 คน) ออสเตรเลีย (ผู้ป่วย 331 คนต่อประชากร 100,000 คน) และอังกฤษ (ผู้ป่วย 412 คนต่อประชากร 100,000 คน) ทั้งนี้ ไทยมีผู้ป่วยเข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมากถึง 35 ล้านครั้งต่อปี และร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน ดังนั้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน การพิจารณาคัดแยกผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยสรุป ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการแพทย์และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) การมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและมีความแม่นยำจะส่งเสริมความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้บริการทางการแพทย์ในไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจจะศึกษาการจัดตั้งสถาบันวิจัยที่มีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นสิงคโปร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมสู่การแพทย์ที่ทันสมัย โดยเฉพาะโรคหัวใจ เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง