จากการเข้าร่วมงานสัมมนา Frankfurt Digital Finance ครั้งที่ 5 ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ภาพรวม
ปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ startups/fintechs ระดมทุนได้ยากลําบากอย่างมากจากสภาพเศรษฐกิจ/ตลาดหุ้นที่ซบเซา การลงทุนชะลอตัว รวมถึงเงินทุนบางส่วนได้หายไปจากตลาด (เช่น ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี) อย่างไรก็ดี หาก startups มีสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีแผนธุรกิจที่รอบคอบ ก็ยังจะสามารถระดมทุนได้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีเงินในกระเป๋า ในขณะเดียวกัน startups ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ESG
ESG เป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญในระยะยาว แต่ละองค์กรจำเป็นต้องบูรณาการปัจจัยภายนอกเข้าสู่ภายในองค์กรอย่างเป็นองค์รวม และต้องอาศัยอำนาจทางบริหารในการขับเคลื่อนเพื่อให้สำเร็จ ขณะนี้บริษัทใหญ่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ SMEs ซึ่งหากเริ่มช้าจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งในอนาคต ESG จะเป็นข้อกําหนดในการเข้าถึงเงินทุนและ credit rating อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องมีการจัดการที่เหมาะสมสำหรับเรื่องของความยั่งยืนและความเสี่ยงต่อการฟอกเขียว (Greenwashing) ด้วย
Financial Regulation
ผู้แทน BaFin (Federal Financial Supervisory Authority) มองว่า สถานการณ์ความมั่นคงทางการเงินการคลังของเยอรมนียังคงอยู่ในระดับปลอดภัย หากเทียบกับสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า EU มีความก้าวหน้าในการออกกฎควบคุมดูแลตลาดคริปโตเคอร์เรนซี (Markets in Crypto-Assets Regulation- MiCA ซึ่งเริ่มใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2565) ซึ่งจะช่วยสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี กฎระเบียบของ EU ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้บังคับใช้เหมือนกันในทุกประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายและระยะเวลาดำเนินการที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้เยอรมนีสูญเสียความน่าดึงดูดในมุมมองของ startups อย่างไรก็ดี CEO ของ N26 (fintech digital banking ของเยอรมนีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก) ยังคงมองว่า การขยายตลาดในกรอบกฎหมายเดียวกัน เช่น EU ยังคงซับซ้อนน้อยกว่าการเข้าสู่ตลาดใหม่ที่มีกฎระเบียบต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย CEO ยกตัวอย่างว่า บริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาและจะปิดกิจการในบราซิล จะหันมาเน้นตลาดยุโรปเป็นหลัก
EU Capital Markets Union
ด้านตลาดทุนของ EU ยังคงพัฒนาช้าและมีกฎระเบียบยุ่งยากเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงเป็นความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เงินทุนและการระดมทุนของบริษัท/startups ของยุโรปยังอยู่ในยุโรปเพื่อผลประโยชน์ของยุโรปเอง ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากบริษัทสำคัญของเยอรมนีหลายราย เช่น Linde Birkenstock และ BioNTech เลือกที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา รวมถึง startups เองก็เลือกจะไปสหรัฐอเมริกา เพราะตลาดใหญ่กว่า ได้มูลค่าและผลตอบแทนสูงกว่า และภาษีต่ำกว่ามากเช่นกัน
ในทางกลับกัน ผู้ได้ประโยชน์จากตลาดทุนยุโรปมากที่สุดกลับเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญ (pension fund) ของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งสามารถลงทุนได้หลากหลายกว่า เช่น ลงทุนใน venture capital (VC) ในขณะที่ pension fund ของเยอรมนีมีข้อจํากัดในการลงทุนมากกว่า ไม่สามารถลงทุนใน VC ได้ เนื่องจากยังมีวัฒนธรรมการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม โดยคนเยอรมนีส่วนมากยังคงเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากแก้ไขข้อจํากัดนี้ได้ เช่น เพิ่ม financial literacy หรือการเปลี่ยนคําว่า venture เป็นคําอื่น เพื่อลดความรู้สึกว่า venture คือความเสี่ยงก็อาจช่วยให้ตลาดทุนในเยอรมนี/ยุโรปคึกคักขึ้น
Digital Euro
ผู้แทนธนาคารกลางเยอรมนีระบุว่า การปกป้องข้อมูลยังเป็นหัวใจสำคัญ โดยจากการสํารวจพบว่า กว่าร้อยละ 60 ยังคงห่วงกังวลเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัว ด้านผู้แทนเอกชนเห็นว่า นอกจากความสำคัญในแง่การลดความเสี่ยงด้าน geopolitics และช่วยสร้าง European resilience แล้ว ในมุมผู้ประกอบการดิจิทัลยูโรจะช่วยลดต้นทุน และร่นระยะการเคลียร์เงินจากระบบ
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์