การค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซียมีมูลค่ามากที่สุดในบรรดาการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน มาเลเซีย-ไทยยังตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568
ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไทยควรดำเนินการ (1) เร่งเปิดใช้ด่านสะเดาแห่งใหม่ เชื่อมโยงการขนส่งกับทางมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้า เนื่องจากการขนส่งสินค้าไทยไปมาเลเซียผ่านด่านสะเดากว่า 90% (2) จัดตั้งศูนย์การค้าส่ง-ค้าปลีกบริเวณด่านสะเดาแห่งใหม่ และ (3) พัฒนาและส่งเสริมการใช้ E-commerce ทั้งการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน
ด้านตลาดมาเลเซียมีลักษณะเด่นได้แก่ (1) เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าให้แก่ไทยได้ (2) เป็นฐานการส่งออกต่อ (re-export) ไปยังจีนและประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้ และ (3) เป็นโอกาสสำหรับการขยายการส่งออกสินค้าและอาหารฮาลาลของไทย เนื่องจากประชากรกว่า 69.7% เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในมาเลเซีย
แม้ว่าในปี 2565 ไทยขาดดุลการค้ากับมาเลเซียประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักจากผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากมาเลเซียมายังไทย แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการท้องถิ่นและผู้นำเข้าสินค้าจากไทยมองว่า ตลาดมาเลเซียยังมีโอกาสสำหรับสินค้าไทยอีกมาก เนื่องจากสินค้าไทยที่มีคุณภาพและจัดอยู่ในประเภท niche ได้แก่ (1) สินค้าอาหารส่งเสริมสุขภาพและสินค้า keto อาหารสัตว์ ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาเลเซียอย่างมาก เนื่องจากสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลือกมากนัก
ดังนั้น สำหรับปี 2566 เทรนด์สินค้าส่งออกไทยที่มีโอกาสบุกตลาดมาเลเซีย จึงเป็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง (pet food) สำหรับแมวและสุนัข รวมถึง pet feed ทั้งนี้ (1) สินค้าไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง (2) สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น ผักและผลไม้สด ผักและผลไม้แช่เย็นและแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป (3) สินค้าเพื่อสุขภาพ (4) สินค้าและบรรจุภัณฑ์ (packaging) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (5) สินค้าที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย และ (6) สินค้าเครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหารไทย โดยเฉพาะต้มยำเป็นที่นิยมของคนมาเลเซียอย่างมาก นับเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ได้รับความนิยมในมาเลเซียมีทั้งรูปแบบออนไลน์และ in-store โดยเฉพาะ food trucks และห้างสรรพสินค้า
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซีย มีรายละเอียดดังนี้ (1) มีตราฮาลาล (2) สินค้าส่งออก เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ มีอายุเก็บรักษาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป (3) ระบุข้อมูลบริษัท เช่น รายละเอียดที่ตั้งและการติดต่ออย่างชัดเจน (4) ระบุข้อมูลสินค้าและส่วนประกอบอย่างชัดเจน (5) ระบุการได้รับใบอนุญาต/รับรองมาตรฐานสินค้าต่าง ๆ อาทิ HACCP GAP หรือรางวัลจากการประกวดต่าง ๆ (6) เสนอแผนการทำการค้าร่วมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ OEM (7) แจ้งรูปแบบราคา (pricing) อย่างชัดเจน เช่น Exwork, FOB, CIF และ (8) ระบุขนาดบรรจุของสินค้า (packing size) เพื่อเอื้อต่อการตัดสินใจของผู้นำเข้า/คู่ค้า
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของ scammers ผู้ประกอบการไทยควรตรวจสอบข้อมูลของคู่ค้าก่อนตกลงข้อเสนอธุรกิจใด ๆ โดยสามารถประสานมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อช่วยตรวจสอบ (screen) เบื้องต้น ทั้งในแง่ข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทและกิจกรรมการดำเนินธุรกิจได้ นอกจากนี้ ควรศึกษากฎระเบียบการส่งออกสินค้ามายังมาเลเซียอย่างละเอียดและชัดแจ้ง เพื่อเอื้อให้กระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
_________________________________________
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์