เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้ได้จัดการประชุม National Assembly Forum on Smart City International Symposium ในหัวข้อ ‘Korea Bringing Smart Life Everywhere’ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ ได้แก่ (1) ทบทวนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะของเกาหลีใต้ (2) พิจารณาบทบาทของอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะของเกาหลีใต้ และ (3) แสวงหากลยุทธ์ในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศที่มุ่งเน้นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายมิติในด้านเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นระบบ
การประชุมได้กล่าวถึง พัฒนาการเมืองอัจฉริยะของเกาหลีใต้ โดยความเป็นมาของเกาหลีใต้ที่ได้เริ่มเป้าหมายการพัฒนาเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 จนกระทั่งปัจจุบัน ในปี 2022 ทาง SCEWC ได้มอบรางวัลด้านเมืองอัจฉริยะให้กรุงโซล ซึ่งแสดงถึงจุดแข็งด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเกาหลีใต้ในระดับโลก นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมุ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการให้นครเซจงและนครปูซาน เป็นสองเมืองอัจฉริยะนำร่อง ซึ่งได้นำเทคโนโลยีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เช่น ICT, AI, Big data, IoT, Cloud, OS (Operation System) มาประยุกต์ใช้
โครงการเมืองอัจฉริยะเซจง ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตที่อยู่อาศัย เขตเมือง และพื้นที่ทำงานร่วมกัน โดยมีแผนการจัดการและโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้ (1) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะ รถยนต์ไร้มลพิษ และเครือข่ายขนาด 10 Gigabit ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งอนาคต (2) การให้บริการแก่สาธารณชน เช่น ระบบ wi-fi สาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะ และการจัดทำแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกและรวมบริการทุกด้านให้แก่ประชาชน และ (3) การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ เช่น คลังข้อมูลสารสนเทศ โมเดลจำลองฝาแฝดเสมือนจริงของวัสดุทางกายภาพเพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Digital Twin) และการทำอุโมงค์ใต้ดินสำหรับบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค
เกาหลีใต้มีเป้าหมายการพัฒนาให้เซจงเป็น (1) เมืองสำหรับทุกคน (2) เมืองที่มีธรรมาภิบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน อาทิ ค่าครองชีพต่ำ (3) เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมือง การใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การรักษาความปลอดภัย และการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งนี้ โครงการเมืองอัจฉริยะเซจงเริ่มดำเนินการในปี 2018 ต่อมาในปี 2022 ได้จัดตั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขึ้นมาบริหาร และในปี 2023 นี้จะเริ่มให้บริการอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ
ส่วนโครงการเมืองอัจฉริยะปูซาน (Busan Eco Delta Smart City) เกาหลีใต้มุ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย และการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีแผนการจัดการและพัฒนาเมือง ดังนี้ (1) การสร้างที่พักอาศัย/อาคารประหยัดพลังงาน (2) ระบบดูแลสุขภาพประชาชนแบบ real-time และ (3) การนำหุ่นยนต์อำนวยความสะดวกและให้บริการในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเมืองที่ตั้งริมแม่น้ำ จึงมีการดูแลและบริหารจัดการน้ำ การป้องกันน้ำท่วม และการจัดหาน้ำสะอาดร่วมด้วย
โดยโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง (1) ทางการนครปูซาน (2) บริษัท K-water และ (3) บริษัทของทางการนครปูซาน เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2018 ต่อมาในปี 2021 ได้ให้ประชาชนจำนวน 200 คน ย้ายเข้าไปพำนักใน Smart Village เพื่อทดลองระบบอัจฉริยะต่าง ๆ โดยให้อยู่อาศัยฟรี 5 ปี หากโมเดลเมืองอัจฉริยะริมแม่น้ำนี้ประสบผลสำเร็จ เกาหลีใต้จะต่อยอดเป็นมาตรฐานรูปแบบการพัฒนาฯ นี้ไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำในต่างประเทศต่อไป
สำหรับความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะกับประเทศไทย เกาหลีใต้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ที่จะร่วมลงทุนกับไทยสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ในพื้นที่ EEC ของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีบริษัทเอกชนเกาหลีใต้ 40-50 บริษัทไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว หากการร่วมทุนครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ จะเกิดการแลกเปลี่ยนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อต่อยอดความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะและเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลีใต้ต่อไป
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์