เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัท Singrow สตาร์ทอัพด้านจีโนมิกส์ (genomics) ของสิงคโปร์ ได้เปิดฟาร์มในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนาไร่สตรอว์เบอรรี (Singrow’s research and development farm) อย่างเป็นทางการ บนพื้นที่ขนาด 300 ตารางเมตร ในนิคมวิทยาศาสตร์ (Science Park) ของสิงคโปร์ โชว์การปลูกสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบร้อนชื้นครั้งแรกของโลก โดยอาศัยการวิจัยพันธุกรรมพืช การผสมข้าม
สายพันธุ์ (cross-breeding) และการใช้เทคโนโลยีความแม่นยำเพื่อการจัดการฟาร์ม (precision-farming) พัฒนาจนได้สตรอว์เบอร์รีคุณภาพเยี่ยม รสชาติหวานฉ่ำ จำหน่ายให้กับโรงแรมในสิงคโปร์และในช่องทางออนไลน์
มากถึง 500 กิโลกรัมต่อเดือน และกำลังมุ่งมั่นเพิ่มผลผลิตอีก 100 เท่าหรือ 50 ตัน ร่วมกับไร่เครือข่ายในประเทศไทยและมาเลเซีย
เทคโนโลยีการพัฒนาสายพันธุ์ และการจัดการไร่สตรอว์เบอร์รีของบริษัท Singrow
สตรอว์เบอร์รีที่บริษัท Singrow ใช้เป็นสายพันธุ์จากญี่ปุ่น โดยนำมาพัฒนาข้ามสายพันธุ์ในระดับโมเลกุล จนได้เป็นสตรอว์เบอร์รีที่เติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 20 – 28 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิโดยทั่วไปของเขตร้อนชื้น ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สามารถถ่ายละอองเกสรอย่างสมบูรณ์และเติบโตเร็วยิ่งขึ้น โดยใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 2 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ในขณะที่สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ทั่วไปจะเติบโตดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น 5 – 15 องศาเซลเซียสเท่านั้น และมีระยะการปลูก 3 เดือนจึงเก็บเกี่ยวได้
บริษัท Singrow ยังใช้ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เข้ามาช่วยจัดการฟาร์ม เช่น อุปกรณ์ “e-nose” เพื่อตรวจจับสารประกอบอินทรีย์ที่ปล่อยจากต้นสตรอว์เบอร์รีและวิเคราะห์สุขภาพของต้นไม้ และระบบกล้อง“PlantEye” ด้วยการสนับสนุนจากโครงการ AgriTech Centre ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของพืช เช่น ขนาดใบ ความยาวลำต้น และค่าชีวมวล (biomass) ต่าง ๆ โดยสามารถแปลข้อมูล และรายงานความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำและทันที (real-time) ทำให้ฟาร์มสามารถจัดการกับความผิดปกติและปรับปรุงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นสตรอว์เบอร์รี เช่น สารอาหาร ความชื้น หรือระยะเวลา การรับแสง ผลของสตรอว์เบอร์รีของ Singrow จึงมีขนาดใหญ่สม่ำเสมอ สวยงาม และมีคุณภาพดี
การขยายฟาร์มสตรอว์เบอร์รีในประเทศไทยและมาเลเซีย เพื่อป้อนตลาดสิงคโปร์ตลอดทั้งปี
ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูกในสิงคโปร์ บริษัท Singrow จึงเริ่มขยายธุรกิจฟาร์มปลูกสตรอว์เบอร์รีในรูปแบบของฟาร์มเครือข่าย (franchise) โดยวางเป้าหมายเพิ่มผลผลิตให้ได้ 100 เท่าของที่ผลิตได้ในปัจจุบัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดสิงคโปร์ตลอดทั้งปี โดยในวันเปิดฟาร์มเมื่อวันที่ 10 เมษายน นั้น บริษัทยังได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท PREINO ของไทย และบริษัท TreeGrow ของมาเลเซีย นอกจากนี้ บริษัทกำลังพิจารณาการขยายการเพาะปลูกในจีนด้วย
ปัจจุบัน คุณภาพ ขนาดและราคาสตรอว์เบอร์รีของบริษัท Singrow ใกล้เคียงกับที่นำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สนนราคาที่ 25 – 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อสตรอว์เบอร์รีเกรดพรีเมียม 1 แพคที่บรรจุ 9 – 12 ผล ซึ่งคาดว่าหากผลผลิตจากฟาร์มในไทยและมาเลเซียเป็นไปตามแผน จะทำให้อุปทานในตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้น และราคาสตรอว์เบอร์รีในตลาดสิงคโปร์ถูกลงเหลือประมาณ 12-15 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อแพคเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย สตรอว์เบอร์รีเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยพัฒนาการปลูกเชิงพาณิชย์และสายพันธุ์ที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยมา ในปี 2560 จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกสตรอว์เบอร์รีมากที่สุด จำนวน 5,835 ไร่ ผลผลิตรวมไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน สร้างรายได้จากการจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคผลสดและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้ไทยยังคงต้องนำเข้าสตรอว์เบอร์รี โดยในปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 435 ล้านบาท โดยเฉพาะสตรอว์เบอร์รีสดจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเฉพาะเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยนำเข้าสตอรว์เบอร์รีแล้ว 407 ตัน มูลค่า 256 ล้านบาท ในขณะที่ส่งออกเพียง 5.7 ตันเท่านั้น
แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการนำสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีชื่อเสียงและเทคโนโลยีการปลูกจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เน้นธุรกิจเชิงท่องเที่ยวขนาดย่อม และปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะที่เน้นการควบคุมอุณหภูมิตามสามพันธุ์ ดังนั้น ความร่วมมือแบบฟาร์มเครือข่ายกับบริษัท Singrow จึงถือเป็นโอกาสใหม่ในการต่อยอดความรู้และธุรกิจ เพื่อให้ได้ผลผลิตสตรอว์เบอร์รีคุณภาพดีในเชิงอุตสาหกรรม และไม่แน่ว่า เราอาจจะได้เห็นการปลูกสตรอว์เบอร์รีในพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตอนบนของไทย
การที่สิงคโปร์มีพื้นที่เกษตรกรรมจำกัด (น้อยกว่า 1%) สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการผลิตอาหารในประเทศยิ่งขึ้น ตามแผน 30 by 30 ด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่วนไทยมีข้อได้เปรียบด้านขนาดของพื้นที่ ความเข้าใจสภาพแวดล้อมท้องถิ่น และความรู้ความชำนาญด้านการเกษตร รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีโอกาสที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการเกษตรกับสิงคโปร์ในสาขาใหม่ ๆ ต่อไป
______________________________________________________
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.channelnewsasia.com/singapore/strawberries-singapore-farm-singrow-bao-shengjie-3400761
- https://www.straitstimes.com/singapore/local-firm-to-grow-tropical-strawberries-in-regional-farms-four-times-the-size-of-ang-mo-kio
- https://inchefmode.com/2022/12/premium-korean-strawberries-showcased-in-singapore/#:~:text=Korean%20strawberries%20are%20the%20number,valued%20at%20USD%2015%20million.
- ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตรศูนย์สารสนเทศการเกษตรสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- https://li01.tci-thaijo.org/index.php/joacmu/article/download/250918/172746/896658